ลุ้นรายได้ “หนังไทย” เข้าเส้นชัยพันล้าน

สัปเหร่อ

หนังไทย “สัปเหร่อ” และ “ธี่หยด” สร้างปรากฏการณ์ขาขึ้นทั่วประเทศ คนแห่เข้าโรงภาพยนตร์เต็มเกือบทุกที่นั่ง แม้จะเป็นรอบดึก สามารถกวาดรายได้ทั้งสองเรื่องสูงถึง 700 ล้านบาท และ 300 ล้านบาทตามลำดับ (ข้อมูลวันที่ 31 ต.ค.) ส่งผลให้หนังไทยตื่นจากความซบเซาอีกครั้ง หลังพี่มากพระโขนงเคยสร้างภาพจำที่ติดตาติดปากคนไทยมากที่สุด

นอกเหนือจากรายได้ที่สะท้อนความสำเร็จแล้ว ยังมีปัจจัยหลายด้านที่ส่งเสริมให้หนังไทยกลับมาเป็นกระแส

“นุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ” นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หนังไทยวันนี้มีหลากหลายแนว ทั้งหนังตลก หนังผี ซึ่งเป็นแนวที่คนไทยชอบ มีวิธีการเล่าหรือนำเสนอที่น่าสนใจ อย่างเรื่อง “สัปเหร่อ” เน้นแบบซื่อ ๆ จริงใจ จึงเข้าถึงคนได้มาก

ขณะที่หนังแนวรักในวัยรุ่น ในกลุ่มเพื่อน แอนิเมชั่น หรือพีเรียด อย่าง “มนต์รักนักพากย์” ในเน็ตฟลิกซ์ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังไทยเกิดเป็นกระแสและมีความหลากหลายเช่นกัน

ที่สำคัญ เกิดการเคลื่อนไหวในต่างประเทศ โดยสมาคมนักเขียนบทแห่งอเมริกา (Writers Guild of America-WGA) ในฮอลลีวูด รวมตัวนัดหยุดงานประท้วง สมาพันธ์ผู้ผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ (Alliance of Motion Picture and Television Producers-AMPTP) เพื่อให้เร่งแก้ปัญหาการทำงาน รวมถึงการใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์เขียนบท แน่นอนกระทบชิ่งไปถึง “อัตราค่าแรง” และ “ชั่วโมงการทำงาน” ด้วย

ทำให้หนังใหญ่จากฮอลลีวูดที่จะเข้าฉายในไทยต้องเลื่อนโปรแกรมไปโดยปริยาย กลายเป็น “โอกาส” ให้หนังท้องถิ่นมีพื้นที่ฉายในโรงอย่างเต็มที่ คาดว่าจะเป็นเช่นนี้อีก 1-2 ปี ก่อนที่หนังฟอร์มยักษ์เมืองนอกจะกลับมา

ส่วนผู้ผลิตหนังไทยเองก็พัฒนาคุณภาพได้มากขึ้น ทั้งรับฟังคำวิจารณ์จากคนดู หลาย ๆ เรื่องจึงทำได้ดี ที่จริงแล้วหนังไทยมีกลุ่มคนดูอยู่แล้ว แต่อาจไม่ได้ดูในโรง จะรับชมผ่านสตรีมมิ่งมากกว่า

แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์จึงมีส่วนสนับสนุนผู้ผลิตเช่นกัน ทั้งเนื้อหาและเงินทุนจากต่างชาติ หนังเรื่องเดียวกันอาจเสนอขายนายทุนที่จะเข้าโรงไม่ได้ แต่ขายนายทุนจากสตรีมมิ่งได้

มนต์รักนักพากย์คือตัวอย่างชัดเจน ที่การมีแพลตฟอร์มต่างชาติมาสร้างทำให้มีเม็ดเงินสูงขึ้น คุณภาพงานก็ดีขึ้น รวมทั้งเรื่อง “เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ” (The Murderer) และ “Hunger คนหิวเกมกระหาย” ก็เช่นกัน

นอกจากหนังตลาดแล้ว ปีนี้หนังเทศกาลหรือหนังรางวัลของไทยก็โดดเด่น ล่าสุดเรื่อง “ดอยบอย – Doi Boy” ก็ได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน เล่าถึงชนกลุ่มน้อยที่หนีมาทำงานในเชียงใหม่และพัวพันกับอาชญากรรม หรือเรื่อง Red Life เรดไลฟ์ ที่เล่าถึงเซ็กซ์เวิร์กเกอร์บริเวณวงเวียน 22 กรกฎาคม ก็ได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว ตอกย้ำหนังไทยมีหลากหลายแนว ทำให้ได้รับการตอบรับจากคนดูเป็นอย่างดี

หนังผี-หนังตลก “รอด”

หนังผีและหนังตลก เป็นหนังตลาดที่ได้รับความนิยมในไทย คนดูอาจบอกว่า ทำไมมีแต่ผีกับตลก ก็ตลาดมีความนิยมมาตลอด สังเกตหนังทำเงินสูงสุดคือหนังผี หนังตลก เช่น พี่มากพระโขนง หรือสัปเหร่อ ธี่หยด ที่กำลังบูม แม้แต่ “ร่างทรง” ก็ไปได้ดีในหลายประเทศ

อยู่ที่วิธีการเล่าต้องต่างจากขนบเดิม ๆ ซึ่งผู้สร้างก็หาความแปลกใหม่อยู่เสมอ แม้จะวนเวียนอยู่กับแนวนี้ แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ชอบ และสร้างรายได้ได้มากก็สามารถนำกำไรไปต่อยอดสร้างหนังแนวเฉพาะต่อไปได้อีก

สำหรับ “สัปเหร่อ” คนในวงการก็ลุ้นให้ทำรายได้ทะลุ 1,000 ล้านบาท หลังพุ่งไปแล้ว 700 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าเป็นหนังที่จะสร้างตำนานให้คนภาคอีสานภาคภูมิใจ

ซอฟต์พาวเวอร์ในตัว

เรียกได้ว่า สัปเหร่อ เป็นกระแสแรงจนระดับรัฐบาลต้องเหมาโรง นำโดย “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงการคลัง ที่นำทีมคณะรัฐมนตรีเข้าชม และก่อนหน้าวันเดียว “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และ มท.1 ก็พาสมาชิกพรรคภูมิใจไทยและรัฐมนตรีในสังกัดเข้าร่วมชมเรื่องนี้เช่นกัน

หลังนายกรัฐมนตรี และ แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้ร่วมชมภาพยนตร์สัปเหร่อเสร็จสิ้น ก็ได้โพสต์ข้อความทันทีว่า

สัปเหร่อคือภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อของภาคอีสานผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่ออกมาได้อย่างน่าชื่นชม

“ผมเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จคือการที่ผู้กำกับ และทีมงานภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง ควรค่าแก่การสนับสนุนครับ”

รัฐบาลขอสนับสนุน Soft Power ด้านภาพยนตร์ เราพร้อมจะผลักดันให้ภาพยนตร์ไทยพาวัฒนธรรมของเราออกไปสู่สายตาชาวโลก ซึ่งเป็นจุดขายสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้ และความชื่นชอบให้กับประเทศไทย

ในมุมมองคนทำหนัง “อนุชา” กล่าวเสริมว่า เป็นเรื่องดีที่ภาครัฐผลักดันจริงจัง แต่สิ่งที่ควรทำคือ การตั้งหน่วยงานแยกออกมาจากราชการ เพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับภาพยนตร์ให้คนที่มีความเข้าใจได้ทำงานและใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด

หลายปีที่ผ่านมา วงการหนังไทยเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย เพราะไม่มีหน่วยงานสนับสนุนจริงจัง

เรื่องของคนไทยควรจะถูกเล่าโดยคนไทย ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ แต่เกี่ยวโยงถึงศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และความคิดของผู้คนในขณะนั้น

สัปเหร่อ หรือ ธี่หยด มีครบดังที่กล่าวมา ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ แต่เราไม่สามารถระบุว่า สิ่งไหนเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แน่ชัด เช่น ผู้สร้างจะทำหนังเรื่องสัปเหร่อ เพื่อให้ภาษาอีสานเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เราไม่สามารถกำหนดแบบนั้นได้ สิ่งที่ทำได้คือ ต้องให้วงการภาพยนตร์เอื้อต่อการสร้างหนังที่หลากหลาย ให้ผู้สร้างได้โชว์ฝีมือ และสิ่งที่อยู่ในหนังจะมีโอกาสเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้จริง ๆ

เช่น ฉลาดเกมส์โกง ไม่มีใครรู้ว่า สิ่งไหนเป็นซอฟต์พาวเวอร์จนกระทั่งฉายไปแล้ว ซอฟต์พาวเวอร์ที่ชัดเจนคือ ชุดนักเรียน ซึ่งผู้สร้างคงไม่ได้คิดว่าจะทำชุดนักเรียนเป็นแฟชั่นระดับโลกแต่แรก

สัปเหร่อ – ธี่หยด – ร่างทรง จึงเป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นความเชื่อเรื่องผี หรือวิญญาณแบบไทย ๆ ส่วนต่างชาติจะมองว่าเป็นเสน่ห์หรือน่าค้นหาอย่างไร หรืออยากมาเที่ยวเมืองไทย ล้วนเป็นผลพลอยได้ที่จะตามมา