เลิกมติ ครม. EAST WATER โยน “ชลประทาน” วิ่งหา “น้ำ” ให้วงษ์สยาม

เขื่อนหนองปลาไหล

ความคุ้มครองที่บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EAST WATER ที่ได้รับจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 ในฐานะผู้ให้บริการท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกเพียงรายเดียวตลอดระยะเวลา 31 ปีกำลังจะสิ้นสุดลง เมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ขอ “ยกเลิก” มติ ครม. เรื่องแนวทางการจัดระบบบริหารการพัฒนาแหล่งน้ำในส่วนที่กำหนดว่า

ระบบท่อส่งน้ำต่าง ๆ ควรจะมีผู้รับผิดชอบรายเดียว ในการพัฒนาระบบให้เป็นท่อส่งน้ำสายหลัก (Trunk Transmission Main) และการดำเนินการบริหาร/จัดการ (Operate) เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้ค้าส่ง (Wholesller) ในการซื้อน้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน และขาย “น้ำดิบ” ให้กับระบบจำหน่ายต่าง ๆ

โดยคำขอยกเลิกมติดังกล่าวได้สร้างความสงสัยในข้อที่ว่า ทำไมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงได้ “ออกหน้า” ขอยกเลิกมติ ครม. ทั้ง ๆ ที่เรื่องดังกล่าวควรเป็นการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ในฐานะคู่สัญญาโครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก

ที่มาของมติ ครม. 4 ก.พ. 2535

มติ ครม. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการจัดตั้ง บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EAST WATER โดยการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) มาจากข้อเสนอของคณะกรรมการกลั่นกรองฝ่ายเศรษฐกิจในเรื่องของการบริหาร/จัดการเรื่องน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกเมื่อปี 2535 หลังจากที่นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เดินทางไปดูงานชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยสำนักงานพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (สพอ.) ได้เสนอให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยมีองค์ประกอบของงาน 3 ส่วน ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำดิบ ระบบท่อส่งน้ำ และระบบจำหน่ายน้ำ จนนำไปสู่ข้อเสนอแนะ 3 ประการที่ว่า

1) การพัฒนาแหล่งน้ำดิบและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้กรมชลประทาน เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการเป็นหลัก โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือเงินกู้ 2) ระบบท่อส่งน้ำต่าง ๆ ควรจะมีผู้รับผิดชอบรายเดียว ทั้งการพัฒนาระบบให้เป็นท่อส่งน้ำสายหลัก (Trunk Transmission Main) และการดำเนินการบริหาร/จัดการ (Operate) เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้ค้าส่ง (Wholeseller) ในการซื้อน้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน และขายน้ำดิบต่อให้กับระบบจำหน่ายต่าง ๆ

และ 3) สำหรับผู้ใช้น้ำ ไม่ว่าของทางราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชนที่ต้องการน้ำดิบเพื่อป้อนเข้าระบบจำหน่าย สามารถซื้อน้ำดิบได้จากผู้ที่รับผิดชอบท่อส่งน้ำสายหลัก ในรูปแบบของการซื้อเหมาเป็นราย ๆ ไป (Bulk-Retailer)

ADVERTISMENT

พร้อมกับระบุไว้ว่า การดำเนินการทั้ง 3 ขั้นตอนข้างต้น ส่วนที่ยังขาดอยู่ก็คือ การที่จะให้มีผู้รับผิดชอบรายเดียวในการพัฒนาและดำเนินการดูแลระบบท่อส่งน้ำสายหลัก จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง EAST WATER เพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ ในการซื้อน้ำจากแหล่งน้ำดิบของทางราชการ มาขายให้กับผู้ใช้น้ำป้อนระบบจำหน่ายต่าง ๆ แล้ว บริษัทนี้ในอนาคตยังสามารถร่วมทุนกับภาคเอกชน หรือขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ด้วย โดยในแง่ของการบริหารทรัพย์สินของบริษัทที่จะเกิดขึ้นนั้น ให้ใช้วิธี “รับโอนสิทธิ หรือเช่าบริหารทรัพย์สินของหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ เช่น

กระทรวงการคลัง (ในขณะนั้น) มอบให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดูแลท่อส่งน้ำดอกกราย-มาบตาพุด และรับผิดชอบเรื่องที่ราชพัสดุ กรมโยธาธิการดูแลท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง ขณะที่กรมชลประทาน ในขณะนั้นก็กำลังก่อสร้างท่อส่งน้ำมาบตาพุด-สัตหีบอยู่ จึงเป็นที่ว่า EAST WATER ได้รับสิทธิให้เข้ามาบริหารจัดการท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกได้อย่างไร

ADVERTISMENT

ได้ท่อ แต่ไม่ได้น้ำ

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ได้เปิดประมูลโครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกในปี 2565 ปรากฏเหตุพลิกผัน บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง กลับเป็นผู้ชนะการประมูล โดยเสนอผลตอบแทน “มากกว่า” บริษัท อีสท์วอเตอร์ ผู้บริหารโครงการและระบบท่อรายเดิม ซึ่งจะต้องส่งมอบสินทรัพย์ (ท่อส่งน้ำ-ที่ดิน-อาคาร สิ่งก่อสร้าง) คืนให้กับกรมธนารักษ์ ประกอบไปด้วย 1) โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย มูลค่าโครงการ 772.09 ล้านบาท

2) โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ มูลค่าโครงการ 2,205.05 ล้านบาท และ 3) โครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) มูลค่าโครงการ 254.87 ล้านบาท

โดยท่อส่งน้ำดิบเหล่านี้ได้เชื่อมต่อกับ “อ่างเก็บน้ำ” ของกรมชลประทาน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่สำคัญที่สุดในภาคตะวันออก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย มีปริมาตรความจุอ่าง 71.40 ล้าน ลบ.ม., อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล มีปริมาตรความจุอ่าง 163.75 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำหนองค้อ มีปริมาตรความจุอ่าง 21.40 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมลุ่มน้ำระยองและชลบุรีบางส่วน ด้วยปริมาตรความจุน้ำรวมกัน 256.58 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นปริมาณน้ำดิบในอ่างทั้ง 3 “เกินกว่า” ครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำดิบในอ่างทั้งหมดของจังหวัดระยองกับชลบุรีรวมกัน

แต่การเข้ามาบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักทั้ง 3 เส้น ท่อของบริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลที่ผ่านมา “ก็ไม่ได้ราบรื่นและเต็มไปด้วยข้อจำกัด” ทั้งการส่ง/รับมอบท่อส่งน้ำจากกรมธนารักษ์

และที่สำคัญก็คือ แม้บริษัทวงษ์สยามก่อสร้างจะได้รับมอบท่อส่งน้ำมาแล้ว แต่กลับติดปัญหาในเรื่องของ “น้ำ” ที่จะนำมาบริหารจัดการให้กับลูกค้าผ่านท่อที่ได้รับมอบมา อันเนื่องมาจากบริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง ยังไม่ได้รับการจัดสรรน้ำ (โควตาน้ำ) เป็นการถาวรจากกรมชลประทาน เจ้าของแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ

ขณะที่ EAST WATER แม้จะเป็นผู้พ่ายแพ้ในการประมูลจนไม่สามารถเข้ามาบริหารจัดการท่อส่งน้ำสายหลักทั้ง 3 เส้นต่อไปได้ แต่ EAST WATER ก็ยังเป็น 1 ในผู้ให้บริการส่งจ่ายน้ำในภาคตะวันออกให้กับลูกค้าทั้งรายเก่าและรายใหม่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ต่อไป พร้อมกันบริษัทยังได้ลงทุนก่อสร้างระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำสายใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น

1)ท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ-แหลมฉบัง ในพื้นที่ จ.ระยอง-ชลบุรี สามารถรองรับน้ำได้ 350,000 ลบ.ม./วัน ทำให้ส่งน้ำไปให้พื้นที่ จ.ชลบุรีได้อย่างเพียงพอเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นรวมถึงปัญหาภัยแล้ง

โดยโครงการนี้มีความยาวเส้นท่อประมาณ 57 กม. เชื่อมต่อกับเส้นท่อส่งน้ำสายหลักประแสร์-หนองปลาไหลเดิมที่เคยบริหารอยู่

2)โครงการท่อส่งน้ำดิบคลองหลวง จ.ชลบุรี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองรัชชโลทรมายังอ่างเก็บน้ำหนองค้อ และ การผันน้ำผ่านคลองพานทองระยะทางเส้นท่อ 49 กม. โดยเชื่อมต่อจากท่อส่งน้ำสายหลักปลวกแดง-บ่อวิน

3)โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบมาบตาพุด-แหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งน้ำให้แก่ ผู้ใช้น้ำอุปโภค-บริโภค และ การใช้น้ำในท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โครงการนี้มีความยาวเส้นท่อประมาณ 27 กม. โดยเชื่อมต่อกับท่อส่งน้ำหลัก หมองปลาไหล-มาบตาพุด เส้นที่ 2 โดยโครงการท่อส่งน้ำทั้ง 3 เส้นจัดเป็นระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ หรือ Water Grid คู่ขนานไปกับท่อน้ำสายหลักของกรมธนารักษ์ ที่เชื่อมโยงแหล่งน้ำสำคัญในภาคตะวันออกเกือบทั้งหมด

ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการลงทุนระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำในภาคตะวันออกไปแล้วคิดเป็นมูลค่าประมาณ 22,000 ล้านบาท

จะหาน้ำจากไหนให้ “วงษ์สยาม”

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นทางที่เสนอเรื่องเข้า ครม. ขอให้ “ยกเลิก” มติ ครม.วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 ได้ให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องเร่งด่วน

เนื่องจากสัญญาเช่าโครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ระหว่างกรมธนารักษ์ กับ EAST WATER กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และกรมธนารักษ์ได้ลงนามในสัญญาฉบับใหม่กับบริษัทวงษ์สยาม ก่อสร้าง ไปแล้ว จึงมีความ “จำเป็น” ต้องยกเลิกมติ ครม. เรื่องแนวทางการจัดระบบบริหารการพัฒนาแหล่งน้ำในส่วนที่กำหนดว่า “ระบบท่อส่งน้ำต่าง ๆ ควรจะมีผู้รับผิดชอบรายเดียว…”

เพื่อให้ บริษัทวงษ์สยาม ก่อสร้าง เป็น “ผู้มีสิทธิ” ในการซื้อน้ำดิบจากแหล่งน้ำดิบของทางราชการ (กรมชลประทาน) มาขายให้กับผู้ใช้น้ำเพิ่มเติมขึ้นอีกหนึ่งราย โดยไม่ขัดกับมติ ครม.เดิม

ทว่าที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ยืนยันมาโดยตลอดถึง “สิทธิในการซื้อน้ำดิบ” หรือโควตาน้ำว่า เอกชนไม่ว่าจะเป็นรายใดสามารถขอโควตาน้ำได้เหมือนกันทุกราย กรมชลประทานมีหน้าที่จัดสรรน้ำให้ แต่จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข 3 ประการคือ

1) ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการขออนุญาตใช้น้ำ 2) มีเครื่องมือที่จะนำน้ำขึ้นมา และ 3) ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่เพียงพอที่จะจัดสรรได้หรือไม่ โดยข้อเท็จจริงเฉพาะข้อ 3 นั้น ปัจจุบัน EAST WATER ได้รับอนุญาตใช้น้ำจากแหล่งน้ำของกรมชลประทานในพื้นที่ ในปริมาณ 120 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยใบอนุญาตจัดสรรน้ำที่ได้รับจากกรมชลประทานฉบับสุดท้ายของ EAST WATER จะสิ้นสุดลงในปี 2570

กลายเป็นข้อย้อนแย้งที่ว่า แม้จะ “ยกเลิก” มติ ครม.วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 เพื่อเปิดทางให้กับบริษัทวงษ์สยาม ก่อสร้าง เป็นผู้มีสิทธิในการซื้อน้ำดิบจากแหล่งน้ำดิบของกรมชลประทานได้จริง ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันบริษัทวงษ์สยาม ก่อสร้าง ก็ได้รับสิทธินั้นอยู่แล้ว แต่ติดปัญหาในข้อที่ 3 กรมชลประทานจะหา “น้ำ” จากไหนมาให้บริษัทวงษ์สยาม ก่อสร้าง จากปริมาณจัดสรร “ชั่วคราว” ที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน ตราบเท่าที่ EAST WATER ยังคงไม่ “สละสิทธิ” ในการได้รับการจัดสรรน้ำตามใบอนุญาตจัดสรรน้ำอยู่