ต้องตัดสินใจกับโรงไฟฟ้าภาคใต้

ภาพประกอบ

บทบรรณาธิการ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งกรณีความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าของภาคใต้ในปี 2563 โดยอ้างข้อมูลจากความต้อง

การใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ปี 2560 (วันที่ 18 มีนาคม 2560) ที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) อยู่ที่ 2,624 เมกะวัตต์ (MW) (ในช่วงเวลา 19.00-21.00 น.) ขณะที่โรงไฟฟ้าหลักในภาคใต้ก็คือ

โรงไฟฟ้าจะนะ (กำลังผลิต 1,476 MW) กับโรงไฟฟ้าขนอม (กำลังผลิต 930 MW) สามารถผลิตไฟฟ้าได้จริงแค่ 2,024 MW หรือมีส่วนต่างอยู่ถึง 382 MW ดีที่จะยังมีการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน-โรงไฟฟ้าชีวมวล-พลังงานลมในพื้นที่ภาคใต้เข้ามาช่วยเสริมอีก 140 MW แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จนต้องนำเข้าไฟฟ้าจากภาคกลางเข้ามาช่วยถึง 460 MW ทำให้ระบบไฟฟ้าในภาคใต้รอดพ้นจากไฟฟ้าตกดับในช่วง peak ของทุก ๆ ปีมาได้

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้สะท้อนความกังวลที่ว่า แม้จะมีไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปช่วย แต่ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ก็ยังต้องเผชิญกับภาวะ “ความเสี่ยง” ที่สูงมาก ทั้งจากกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ที่ไม่เพียงพออยู่แล้ว หากเกิดอุบัติเหตุจนทำให้โรงไฟฟ้า 1 ใน 2 โรง (จะนะ-ขนอม) ต้องหยุดผลิตไป หรืออุบัติเหตุกับสายส่งที่นำไฟฟ้าจากภาคกลางลงมาช่วย ไปจนกระทั่งอัตราความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3-4% ของทุกปีโดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ ๆ อย่าง สงขลา-สุราษฎร์ธานี และ ภูเก็ต

ที่ผ่านมา กฟผ.ได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุดก็คือ การเพิ่มโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่เพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าให้ภาคใต้ ทว่ากลับเป็นข้อเสนอในชุดของการก่อสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ที่กระบี่-เทพา จำนวนรวม 2,800 MW ซึ่งตามแผนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เครื่องที่ 1 กับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเครื่องที่ 1 รวม 1,800 MW จะต้องเข้าสู่ระบบในปี 2562 กับปี 2564

แต่ก็ “ไม่มีกำลังผลิตในส่วนนี้” เนื่องจากถ่านหินที่ใช้ในโรงไฟฟ้าภายใต้นิยาม “เชื้อเพลิงสกปรก” ถูกต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่อย่างเข้มแข็งจนกลายเป็นปัญหาคาราคาซังตกทอดมาถึงรัฐบาล คสช.ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาไม่รู้กี่คนต่อกี่คน จนกระทั่งถึงรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

เหตุด้วยวิธีการแก้ไขปัญหากลับใช้ “การซื้อเวลา” ด้วยการสั่งให้ กฟผ.ยุติการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาที่ดำเนินการมาทั้งหมด แต่ให้กลับไปนับหนึ่งใหม่ด้วยการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ขึ้นมาใหม่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาจัดทำ SEA อีกกี่รัฐบาล และอีกนานแค่ไหน

กลายเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ยอมตัดสินใจและปล่อยให้ภาคใต้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงไฟฟ้าตก/ดับทุกครั้งที่เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดต่อไปอีก