โรงแรมประหยัด (1)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

เรื่องไม่เล็ก ไม่ใหญ่ ดังชื่อข้างต้น ส่งผลกระทบ และเป็นบทเรียนหนึ่งของสังคมธุรกิจไทย

เกี่ยวกับโรงแรมแบบประหยัด (budget hotel) ถูกจุดประกายให้เป็นที่รู้จักวงกว้าง โดย ปตท.เปิดฉากขึ้นราว 2 ปีที่แล้ว

ผมเองสนใจเรื่องนั้นด้วย เคยเสนอว่า “ปตท.เปิดแผนการธุรกิจโรงแรม” (เมื่อกรกฎาคม 2559) อ้างถ้อยแถลงเป็นเรื่องจริงจังพอสมควร โดย อรรถพล

ฤกษ์พิบูลย์ ผู้บริหารคนหนึ่งของกลุ่ม ปตท. ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และรักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริหารกลยุทธ์ ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และเพิ่งได้รับตำแหน่งนายก

สมาคมการตลาดคนใหม่ “ปตท.กำลังเจรจากับเครือโรงแรม 3-4 แห่ง เพื่อหาพันธมิตรร่วมพัฒนาธุรกิจโรงแรมราคาประหยัด (budget hotel) ในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. ซึ่งมี

ประมาณ 50 แห่ง จากทั้งหมด 1,400 แห่ง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นโรงแรมได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า” นั่นคือสาระสำคัญ ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ในขณะนั้น

ในเวลานั้นได้ตั้งคำถามและประเด็นเกี่ยวข้องกับแผนการข้างต้นไว้ (หากสนใจ โปรดกลับไปอ่านรายละเอียดจากเรื่อง “ปตท.กับธุรกิจโรงแรม” (3 ตอน) ประชาชาติธุรกิจ ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2559) ว่าด้วย หนึ่ง-ไม่มีความเชื่อมโยง และต่อเนื่องโดยตรงกับสถานีบริการน้ำมัน สอง-ธุรกิจโรงแรมเป็นงานบริการที่ละเอียดอ่อน เกี่ยวข้องกับเวลาแวะพัก ระยะทาง และทำเลที่ตั้ง และสาม-สถานีบริการน้ำมันมีบุคลิกเฉพาะ โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับ “ความเสี่ยง”

ไม่กี่เดือนต่อจากนั้น (พฤศจิกายน 25559) มีข่าวออกมาว่า “ปตท.ล้มประมูลโครงการพัฒนาธุรกิจโรงแรมในปั๊มน้ำมัน ร่อนจดหมายถึงผู้เข้าประมูลทั้ง 5 ราย แจ้งชัดยังไม่มีผู้ใด

ได้รับการคัดเลือก พร้อมระบุขอสงวนสิทธิ์ในการชี้แจงเหตุผล” พร้อมทั้งมีข่าวว่าผู้เสนอตัวเข้าร่วมธุรกิจบางรายรู้สึกผิดหวัง ทั้งประกาศว่าจะเดินหน้าแผนการโรงแรมประหยัดด้วยตนเองต่อไป

ผ่านมานับปี ปตท.ยังยืนยันว่าจะเดินแผนการต่อไป “ปตท.เตรียมเปิดโรงแรมในปั๊ม 5 แห่ง ปี 2561 ตั้งเป้า 50 แห่งในระยะ 5 ปี ก่อนขยายให้ดีลเลอร์ร่วมกิจการ” (กันยายน 2560) อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ คนเดิมนั่นแหละให้ข่าว พร้อมว่าจะนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท.เพื่ออนุมัติในเดือนพฤศจิกายน 2560 “โดยจะเริ่มลงทุน 5 แห่งนำร่อง ในปี 2561 ซึ่ง ปตท.จะเป็นผู้บริหารและลงทุนเองทั้งหมด หลังจากนั้นอาจจะให้พันธมิตรเป็นผู้ดำเนินการต่อไป” จนแล้ว

จนรอดเรื่องดูเงียบ ๆ ไป กระทั่งล่าสุดมีข่าว (มีนาคม 2561) มาอีกว่า “ปตท.คาดเสนอบอร์ด เม.ย.นี้ เคาะพันธมิตรลงทุนโรงแรมราคาประหยัด”

เรื่องนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป แต่เรื่องนี้ดำเนินไปแล้วอย่างน่าตื่นเต้น

“ปี 2560 บริษัทได้เปิดให้บริการโรงแรมในกลุ่มโรงแรมบัดเจ็ตภายใต้แบรนด์ “ฮ็อป อินน์” (HOP INN) ซึ่งบริษัทเป็นผู้ลงทุนและบริหารเองในประเทศไทย จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ บุรีรัมย์ ระยอง เชียงราย หัวหิน นครสวรรค์ ลพบุรี และอีก 4 แห่ง ที่เป็นสาขาที่ 2 ในจังหวัดลำปาง ตาก ขอนแก่น และกาญจนบุรี ณ สิ้นปี 2560 บริษัทมีโรงแรมในกลุ่มบัดเจ็ตในประเทศไทยจำนวน 32 แห่ง ครอบคลุมจังหวัดเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย” สาระสำคัญตอนหนึ่งในรายงานประจำปีล่าสุด (2560) บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ภาพความเป็นไปอย่างกระตือรือร้น เกี่ยวกับโรงแรมแบบประหยัด ถือเป็นโมเดลธุรกิจโรงแรมใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังแล้ว

ว่ากันว่า ดิ เอราวัณ กรุ๊ป หนึ่งในผู้เสนอร่วมมือธุรกิจกับ ปตท.จากกรณีข้างต้น

ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เป็นกิจการซึ่งก่อตั้งมากว่า 3 ทศวรรษ (ปี 2525) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (ปี 2531) ดำเนินธุรกิจ “เกี่ยวกับการลงทุนพัฒนาและดำเนินธุรกิจโรงแรมที่สอดคล้องกับทำเล สถานที่ตั้ง และกลุ่มเป้าหมาย เป็นธุรกิจหลัก โดยมีธุรกิจอื่น ได้แก่ ธุรกิจพื้นที่ให้เช่า และธุรกิจบริหารอาคาร” (ข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ)

เรื่องราวเอราวัณกรุ๊ป เกี่ยวข้องกับผู้ก่อตั้ง เกียรติ วัธนเวคิน “ผู้สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจ ในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่สอง เช่นเดียวกันกับโอกาสที่เกิดขึ้นครั้งใหญ่ของธุรกิจไทย ไม่ว่าการก่อกำเนิดธนาคารไทย และกลุ่มธุรกิจใหญ่ อย่าง ซี.พี. สหพัฒน์ และเซ็นทรัล พวกเขามีที่มาคล้าย ๆ กันในการเข้าสู่ธุรกิจที่อ้างอิงกับระบบสัมปทาน โดยเฉพาะธุรกิจสุรา ในยุคทหารครองอำนาจ จาก กลุ่มซอยราชครู มาถึงสี่เสาเทเวศร์ จากนั้นขยายโอกาสเพิ่มขึ้นสู่ธุรกิจที่มีความมั่นคงต่อเนื่อง เกียรติ วัธนเวคิน เข้าสู่อุตสาหกรรมน้ำตาลและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์” ผมเองเคยอรรถาธิบายว่าด้วยการเกิดขึ้นธนาคารใหม่ –ธนาคารเกียรตินาคิน

(ปี 2548) ในห้วงเวลาโอกาสเปิดกว้าง ได้เริ่มต้นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วย เปิดตัวศูนย์การค้าแห่งใหม่ อัมรินทร์ พลาซ่า (ปี 2527) ในช่วงเวลาเดียวกันกับการเกิดขึ้น ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ กำลังเข้ายึดทำเลธุรกิจสำคัญ ๆ กรุงเทพฯ โดยเฉพาะโครงการมาบุญครอง สี่แยกปทุมวัน และเซ็นทรัลพลาซา สี่แยกลาดพร้าว

ธุรกิจดังกล่าวเป็นความร่วมมือร่วมทุนระหว่างตระกูลวัธนเวคิน ในฐานะเจ้าของโรงงานน้ำตาลในภาคตะวันออก กับตระกูลว่องกุศลกิจ

เจ้าของโรงงานน้ำตาลมิตรผล ในภาคตะวันตก (ราชบุรี) กิจการดำเนินไปสอดคล้องกับสถานการณ์ที่อำนวย ทั้งตลาดหุ้นและตลาดการเงิน กิจการร่วมทุนในนามบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป หลังจากเข้าตลาดหุ้นได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม ด้วยเปิดตัว –โรงแรม แกรนด์ ไฮแอทเอราวัณ กรุงเทพฯ ในปี 2534

ปัจจุบัน “บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แบ่งการบริหารโรงแรมในเครือออกเป็น 3 กลุ่ม” รายงานประจำปีอีกตอนหนึ่งกล่าว

ข้อสรุปความให้เข้าใจง่ายขึ้น (จากข้อมูลในรายงานประจำปีอีกเช่นกัน) หนึ่ง-การบริหารโดยเครือข่ายโรงแรมระดับโลก (chained-brand hotels) “มีเครือข่ายการตลาดกว้างขวาง และมีระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ” เป็นโรงแรมหรู (luxury) และโรงแรมขนาดกลาง (midscale) ได้แก่ Hyatt Hotels Corporation แห่งสหรัฐ

InterContinental Hotels Group (IHG) แห่งสหราชอาณาจักร และ Marriott International แห่งสหรัฐ สอง-บริหารงานเอง โดยอาศัยเครือข่ายโรงแรมระดับโลก (chained-brand hotels) ในลักษณะแฟรนไชส์  (franchise)”ได้รับสิทธิ์ให้ใช้อยู่ภายใต้การบริหารงานของกลุ่ม Accor Hotels ทั้งหมด ประกอบด้วยแบรนด์ Mercure และ Ibis” ที่สำคัญและเพิ่งเกิดขึ้น สาม-การบริหารเอง ภายใต้แบรนด์ของตนเอง นั่นคือ “ฮ็อป อินน์” (HOP INN)

“อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของกลุ่มโรงแรมบัดเจ็ตในปี 2560 เท่ากับร้อยละ 75 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 70 จากปี 2559 ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนห้องพักเพิ่มขึ้นจากการเปิดโรงแรมใหม่จำนวน 10 แห่งในปีนี้ และค่าห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องพักเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา นับเป็นกลุ่มโรงแรมที่มีการเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักสูงที่สุดในกลุ่มในปีนี้

โรงแรมในกลุ่มนี้มีรายได้รวมจากการดำเนินงานทั้งสิ้น 297 ล้านบาท และมีกำไรในระดับ EBITDA เท่ากับ 128 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 54 และร้อยละ 53 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาตามลำดับ” อีกตอน ในรายงานประจำปี 2560 ตั้งใจ กล่าวถึงโรงแรมแบบใหม่แบบประหยัด (budget hotel) โดยเฉพาะ เป็นพิเศษ

เรื่องราวโรงแรม HOP INN ของ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป มีความหมายมากกว่านั้น