ยกเครื่อง ศก.เขาหัวโล้นแก้รวยกระจุก

บทบรรณาธิการ

อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกปี 2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า เติบโตที่ 4.8% เทียบกับไตรมาส 4 ปี 2560 สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส จากปัจจัยหนุนการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งภาคส่งออก การท่องเที่ยวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกเครื่องทำงาน กำลังซื้อและความเชื่อมั่นดีขึ้นตามลำดับ

แม้หลายคนอาจมองว่าดัชนีชี้วัดดังกล่าวสวนทางกับความเป็นจริง เพราะเวลานี้เศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นอีกจำนวนมากยังย่ำแย่ เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย คนจน มีปัญหาเรื่องค่าครองชีพ รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ชี้ให้เห็นว่ามีคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของ GDP เศรษฐกิจเติบโตในลักษณะรวยกระจุกจนกระจาย ปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลหลายยุคสมัยแก้ไม่ได้ แถมยิ่งขยายปมกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง

นโยบายที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำและให้คำมั่นว่าจะไม่บริหารเศรษฐกิจแบบตามใจคน แต่บริหารเพื่อคนรุ่นหน้า จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างประเทศนำแนวทางใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ มาปรับใช้สร้างความเข้มแข็ง ยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่รัฐบาลต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ให้ทันกับเงื่อนเวลาทางการเมืองที่เหลือน้อยลงทุกวัน

เริ่มจากการบริหารจัดการหลากหลายปัจจัยที่เป็นตัวแปรให้สอดรับกับสถานการณ์และกระแสโลกยุคใหม่ที่ปรับเปลี่ยนรวดเร็วและรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างโอกาสให้คนตัวเล็ก ด้วยการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเขาหัวโล้นที่มีต้นไม้ใหญ่ ๆ เพียงแค่ 50 ต้น แล้วปลูกป่าผู้ประกอบการรายใหม่ ผู้ประกอบการหนุ่มสาวให้เต็มพื้นที่ทดแทน

เพราะการมีกลุ่มทุนใหญ่เพียงแค่ไม่กี่ตระกูลผูกขาด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โอกาสที่ระบบเศรษฐกิจในภาพรวมจะมีความมั่นคง ยั่งยืนคงเป็นไปได้ยาก แต่ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคมจะยิ่งถ่างกว้างขึ้น ที่สำคัญไม่ใช่แค่เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อยเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก แม้แต่ผู้ประกอบการรายกลาง รายย่อย หรือเอสเอ็มอี ก็มีปัญหา

การสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานรากเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นให้มีอาชีพ รายได้ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการรายกลางรายเล็ก

กระจายเม็ดเงินให้ถึงมือคนระดับล่าง จึงน่าจะเป็นทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหา ควบคู่กับผลักดันเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาค หรือกลุ่มจังหวัด จากปัจจุบันมีกรุงเทพมหานคร กับเมืองหลักไม่กี่แห่ง การแก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก จนกระจายจึงจะสัมฤทธิ์ผลได้