
บทบรรณาธิการ
การเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ถึง 2 ระลอกในบริเวณภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน อันเนื่องมาจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นบริเวณกว้างตั้งแต่ อ.แม่สาย ลงมาจนถึง จ.หนองคาย ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.05 ของ GDP โดยภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 7,168 ล้านบาท หรือประมาณ 89.6% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาเป็น ภาคบริการ เสียหาย 693 ล้านบาท (8.66%) และภาคอุตสาหกรรม เสียหาย 139 ล้านบาท (1.74%)
แม้ว่าข้อเท็จจริงของการเกิดอุทกภัยจะเกิดจากปริมาณฝนที่ตกลงมามากในพื้นที่รัฐฉานของเมียนมา ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการไหลหลากของปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลข้ามพรมแดนเข้าสู่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย การเกิดฝนตกหนักทางตอนเหนือ สปป.ลาว และบริเวณชายแดนข้างเคียง อันส่งผลกระทบมาถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่ จ.น่าน-แพร่-พะเยา ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม กระนั้นก็ยังมีการกล่าวโทษ ประเทศจีน ในฐานะผู้ซ้ำเติมเหตุการณ์ด้วยการระบายน้ำออกมาจากเขื่อน “จิ่งหง” อันเป็น 1 ใน 12 ชุดเขื่อนที่กั้นแม่น้ำโขงตอนบน ส่งผลให้แม่น้ำโขงมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นเอ่อล้นท่วมพื้นที่จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร ขณะที่ลำน้ำสาขาฝั่งไทยมีระดับต่ำกว่าจนไม่สามารถระบายน้ำที่ท่วมขังออกไปได้
ประกอบกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เองก็ได้ทำหนังสือรายงานสถานการณ์ของแม่น้ำโขงตอนล่างผ่านทางกลไกของ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) 4 ประเทศ (ไทย-สปป.ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม) เพื่อแจ้งให้กับทางฝ่ายจีนชะลอการปล่อยน้ำและบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำโขงตอนบน แต่ถึงกระนั้นกรณีเขื่อนจิ่งหงระบายน้ำออกมามากก็ยังคงเป็นประเด็นที่สร้างความสับสนจนสถานทูตจีนในไทย ต้องออกแถลงการณ์ สถานีไฟฟ้าพลังน้ำจิ่งหง ไม่ได้ดำเนินการระบายน้ำ ปริมาณการไหลออกของน้ำเฉลี่ยต่อวันลดลง 60% สภาพน้ำของตอนแม่น้ำโขงในจีนอยู่ในภาวะปกติ และอ่างเก็บน้ำที่เกี่ยวข้องของแม่น้ำโขงตอนบนในส่วนของจีนก็ยังอยู่ในสถานะของการกักเก็บน้ำ
การที่แม่น้ำโขงมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น เป็นเพราะ “น้ำจากลำน้ำสาขา” จาก 2 ฝั่งแม่น้ำโขงไหลลงมาเติมจนมีปริมาณน้ำมากขึ้น ส่วนน้ำจากเขื่อนจีนที่ปล่อยออกมาคิดเป็นปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง 13.5% ที่มีต้นกำเนิดจากจีน จึงเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องใช้ช่องทางการสื่อสารกับจีน เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศ ผ่านทาง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เพื่อร่วมกันบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงทั้งตอนบนและตอนล่าง ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง แม้จีนจะมีฐานะเป็นแค่ประเทศคู่เจรจา มิได้เป็นสมาชิกโดยตรงของ MRC ก็ตาม