ผลโพล หญิงไทยยุค 4.0

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นทางสังคม พม.Poll กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1-12 ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจในหัวข้อ “หญิงไทยยุคใหม่ สไตล์ 4.0” ระหว่าง 24 พ.ค.-15 มิ.ย. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนอายุ 18-72 ปี ทุกภูมิภาคทั่วประเทศไรวม 4,800 ตัวอย่าง โดยร้อยละ 50.08 เป็นเพศชาย ร้อยละ 49.67 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 0.25 เป็นเพศทางเลือก กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.21 อายุ 24-37 ปี ร้อยละ 25.10 อายุ 38-53 ปี ร้อยละ 24.98 อายุ 18-23 ปี และร้อยละ 24.71 อายุ 54-72 ปี

ด้านการศึกษาร้อยละ 35.83 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.15 จบระดับมัธยมศึกษา ร้อยละ 16.42 ระดับประถมศึกษา ร้อยละ 16.23 ระดับอนุปริญญาตรี ร้อยละ 4.60 จบปริญญาโท ร้อยละ 1.92 ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 0.23 ศึกษาระดับปริญญาเอก

ผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความจำเป็นที่ผู้หญิงต้องมีคู่ครอง ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.38 ระบุว่าจำเป็น ร้อยละ 35.62 ระบุว่าไม่จำเป็นต้องมีคู่ครอง เพราะสภาพสังคมเอื้อให้ผู้หญิงสามารถประกอบอาชีพดูแลตนเองและครอบครัวได้ ปัจจุบันผู้หญิงสามารถอยู่คนเดียวหรือเป็นโสด ไม่จำเป็นต้องมีคู่ สามารถทำอะไรได้เองโดยไม่ต้องพึ่งผู้ชาย ต้องการความเป็นอิสระในการตัดสินใจใช้ชีวิต มีสิทธิและทางเลือกที่เท่าเทียมผู้ชาย บางความคิดเห็นระบุว่า คู่ครองอาจไม่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระ เมื่อเกิดปัญหาทุกอย่างจะตกอยู่กับฝ่ายหญิง และผู้ชายที่มีความประพฤติดีหายาก ส่วนมากเจ้าชู้ ไม่ซื่อสัตย์ ขาดความรับผิดชอบ ชอบใช้ความรุนแรง

ความเห็นต่อความจำเป็นต้องจดทะเบียนสมรส ร้อยละ 60.52 ระบุว่าจำเป็น เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตครอบครัว ได้เป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้มีสิทธิในทรัพย์สินหรือมรดกอันพึงได้ เพื่อให้มีผลคุ้มครองสิทธิทางกฎหมาย สิทธิประโยชน์ของบุตร

เรื่องการศึกษา สวัสดิการต่าง ๆ การรักษาพยาบาล และต้องการใช้สกุลเดียวกันเพื่อสืบทอดสกุลฝ่ายชายตามธรรมเนียมร้อยละ 39.48 ระบุว่า ไม่จำเป็นเพราะไม่มีกฎหมายบังคับ ไม่อยากมีข้อผูกมัดทางกฎหมาย ขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้งสองฝ่าย คิดว่าทะเบียนสมรสไม่ได้เป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตครอบครัว ต้องการความเป็นอิสระ ไม่อยากมีภาระ กลัวมีปัญหาเรื่องสินสมรส หนี้สิน ธุรกรรมต่าง ๆ และอยากใช้นามสกุลของตนเองเหมือนเดิม

ความจำเป็นที่ต้องมีบุตร ส่วนใหญ่ร้อยละ 76.83 ระบุว่า จำเป็น และในจำนวนนี้ร้อยละ 62.50 ระบุจำนวนบุตร 2 คน เพื่อจะได้มีคนดูแลเวลาเจ็บป่วย ยามแก่เฒ่า ไว้ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยในเรื่องต่าง ๆ สืบทอดวงศ์ตระกูล เพื่อให้สถานะทางครอบครัวครบถ้วนสมบูรณ์ จะได้มีพี่น้องไว้ดูแลซึ่งกันและกัน ร้อยละ 12.77 ระบุจำนวนบุตร 3 คน ร้อยละ 7.02 ไม่ระบุจำนวนบุตร ร้อยละ 3.34 ระบุจำนวนบุตร 4 คนขึ้นไป

ส่วนอีกร้อยละ 23.17 ที่ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องมีบุตร มองว่าขึ้นอยู่กับความพร้อมของครอบครัว ยังต้องการความอิสระ ไม่อยากมีภาระ ประกอบกับปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ดี ค่าใช้จ่ายในการครองชีพสูง จะมีหรือไม่มีก็ได้ ขณะที่บางคนมีปัญหาด้านสุขภาพซึ่งอาจส่งผลต่อการมีบุตร หรือมีหลานให้เลี้ยงดูอยู่แล้ว

ถามถึงความคิดเห็นเรื่องหน้าที่การทำงานบ้านเป็นของผู้หญิงเท่านั้น ร้อยละ 77.31 ระบุว่าไม่เห็นด้วย เพราะทุกคนสามารถช่วยกันทำงานบ้านได้เท่า ๆ กัน และผู้ชายสามารถทำได้ เพื่อแบ่งเบาภาระผู้หญิง ผู้หญิงทำงานนอกบ้านเหมือนผู้ชาย แต่ร้อยละ 22.69 ระบุว่า เห็นด้วย

ประเด็นความคิดเห็นต่อการเป็นนักการเมืองของผู้หญิงในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 94.90 ระบุว่า ผู้หญิงเป็นนักการเมืองได้ เพราะปัจจุบันผู้หญิงมีความรู้ความสามารถ มีความเป็นผู้นำ มีความละเอียดอ่อน รอบคอบ มีการศึกษาสูงกว่าสมัยก่อน และจะมีความคิดที่แตกต่างจากผู้ชาย ร้อยละ 5.10 ระบุว่า เป็นนักการเมืองไม่ได้ เพราะผู้ชายมีความเป็นผู้นำมากกว่าผู้หญิง ไม่รู้เรื่องกฎหมาย การเมือง ไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ตัดสินใจไม่เด็ดขาดบางเรื่อง ยังมีความอ่อนแอ ขาดความกล้า

ความเห็นต่อการเป็นผู้บริหารระดับสูงของผู้หญิงในองค์กร หรือหน่วยงาน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 94.46 ระบุว่า ผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูงได้ เพราะปัจจุบันผู้หญิงมีความรู้ความสามารถ มีความเป็นผู้นำ มีสิทธิที่จะเป็นได้เท่าเทียมผู้ขาย มีความคิดที่แตกต่าง มีความละเอียดอ่อน รอบคอบกว่า อีกทั้งผู้หญิงมีการศึกษาสูงกว่าสมัยก่อน แต่ร้อยละ 5.54 ระบุว่า ผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูงไม่ได้ เพราะผู้ชายมีความเป็นผู้นำมากกว่า การตัดสินใจเด็ดขาดในบางเรื่องน้อยกว่าผู้ชาย ไม่เหมาะสมกับผู้หญิง มีความอ่อนแอกว่าผู้ชาย

สำหรับความเห็นต่อความสำเร็จในชีวิตของผู้หญิงในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 33.71 ระบุว่า มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ร้อยละ 24.65 ระบุว่า มีความมั่นคงทางด้านการเงิน ร้อยละ 15.27 ระบุว่า แต่งงานและมีลูก ร้อยละ 11.96 ระบุว่า เป็นเจ้าของธุรกิจหรือมีกิจการส่วนตัว ร้อยละ 8.40 ระบุว่า มีความอิสระ คล่องตัวไม่มีภาระ ร้อยละ 2.46 ระบุว่า มีโอกาสท่องเที่ยว เปิดโลกทัศน์ และร้อยละ 3.55 ระบุเหตุผลอื่น ๆ อาทิ มีครอบครัวที่อบอุ่นมั่นคง ต้องมีองค์ประกอบหลาย ๆ ด้านที่ทำให้มีความสุขในการใช้ชีวิต

เมื่อถามถึงสิ่งที่ผู้หญิงไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 ควรเป็นมากที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 42.08 ระบุว่า ทำงานได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ร้อยละ 22.29 ระบุว่า มีอิสระในการตัดสินใจและพึ่งพาตนเองได้ ร้อยละ 16.81 ระบุว่า ทำงานเก่ง มีความเป็นผู้นำ ร้อยละ 11.88 ระบุว่า เป็นแม่บ้านแม่เรือนดูแลครอบครัวได้ ร้อยละ 5.94 ระบุว่า มีความรู้และทักษาด้านภาษาต่างประเทศและเทคโนโลยี และร้อยละ 1.00 ระบุว่าอื่น ๆ ได้แก่ ต้องมีหลาย ๆ แบบอยู่ด้วยกัน

ส่วนอาชีพที่ผู้หญิงไทยยุคไทยแลนด์ 4.0 ควรเป็นมากที่สุด ส่วนใหญ่ร้อยละ 23.95 ระบุว่า อาชีพด้านการรักษาสุขภาพ ร้อยละ 15.42 ระบุว่า อาชีพด้านการใช้ภาษาต่างประเทศ ร้อยละ 12.81 ระบุว่า อาชีพด้านความงาม ร้อยละ 9.33 ระบุว่า อาชีพนักกฎหมายธุรกิจ ร้อยละ 6.23 ระบุว่า อาชีพนักเขียนโปรแกรมเมอร์ เป็นต้น

ส่วนความคิดเห็นต่อความเท่าเทียมกันของสถานภาพทางสังคมระหว่างหญิงและชายในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 80.21 ระบุว่า เท่าเทียมกันในเรื่องการได้รับโอกาสทางการศึกษา การใช้ชีวิตและอิสระในการตัดสินใจ สิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการประกอบอาชีพ ร้อยละ 19.79 ระบุว่า ไม่เท่าเทียมกัน เพราะความคิด ความเชื่อ ค่านิยมที่ปลูกฝังมานานในเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่ และสังคมยังไม่ยอมรับความสามารถของผู้หญิง บางส่วนเห็นว่าผู้ชายยังมีสิทธิต่าง ๆ มากกว่าผู้หญิงในบางเรื่อง ยังมีการทำร้ายร่างกายผู้หญิง การปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่มองว่าผู้หญิงต้องทำงานบ้านและเลี้ยงลูก และผู้หญิงยังต้องทำงานมากกว่าผู้ชาย

ขณะที่โอกาสที่สังคมมีให้กับผู้หญิงเมื่อเทียบกับผู้ชาย ส่วนใหญ่ร้อยละ 79.52 ระบุว่า ให้โอกาสเท่าเทียมกัน ร้อยละ 20.48 ระบุว่า สังคมให้โอกาสผู้หญิงน้อยกว่าในเรื่องการทำงาน การประกอบอาชีพ การเป็นผู้นำ การมีสิทธิ เสรีภาพ การดำรงชีวิต ฯลฯ

ใครฝังใจอยู่กับอดีต ยังเชื่อมั่นข้อมูลเดิม ๆ ซึ่งอาจตกยุค ใช้ไม่ได้กับหญิงไทยยุคปัจจุบัน คิดผิด…คิดใหม่ได้