สงครามการค้า-วิกฤตค่าเงิน ไทยเสี่ยงต่ำ…ต้องจับตา “ศก.อินโดนีเซีย”

คอลัมน์ ดุลยธรรม

โดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจและค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มลุกลาม จากผลกระทบสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น เกิดการดิ่งลงของค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น รวมทั้งเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ของไทยเพิ่มขึ้น และกดดันให้เงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาจเกิดการเก็งกำไรค่าเงินบาททำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย โดยเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ

ยกเว้นดอลลาร์สหรัฐ จึงไม่ควรรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพราะจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกกระทบต่อภาคส่งออก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ

การอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงของค่าเงินในตุรกี อาร์เจนตินา เวเนซุเอลา อินโดนีเซีย อินเดีย และจะเกิดขึ้นกับฟิลิปปินส์ บราซิลต่อไป ทำให้ภาระหนี้สินต่างประเทศของประเทศเหล่านี้ ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงอยู่แล้วเพิ่มขึ้นอีก

จากการอ่อนค่าของเงินสกุลท้องถิ่น ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้อาจจะเกิดขึ้นในบางประเทศ และจะมีผลกระทบต่อสถาบันการเงินและเจ้าหนี้ระหว่างประเทศที่ปล่อยกู้ให้กับประเทศเหล่านี้

สถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่มีฐานะแข็งแกร่งขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจะกลับมาอ่อนแออีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ผลกระทบจากการขยายวงของสงครามทางการค้าจะทำให้ปริมาณการค้าโลกและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 4

ทั้งนี้ ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาผลของการทำประชาพิจารณ์ที่รัฐบาลสหรัฐจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาในการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มเติมมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์หรือไม่ หากมีการตัดสินใจเดินหน้าเก็บภาษีจากจีนเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ คาดว่าจีนจะทำการตอบโต้ทางการค้าในระดับเดียวกัน จะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกค่อนข้างมาก

ข้อมูลล่าสุดสหรัฐอเมริกามีตัวเลขขาดดุลการค้าในเดือนกรกฎาคมสูงกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงสุดในรอบ 5 เดือน หากสถานการณ์การขาดดุลการค้าสหรัฐยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีการใช้มาตรการตั้งกำแพงภาษีและกีดกันการค้าต่อประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทยต่อไป เพื่อลดการขาดดุลการค้าซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ซึ่งต้องอาศัยรายได้จากการส่งออก

ขณะที่วิกฤตค่าเงินและการชะลอตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย อาจลามไปที่ฟิลิปปินส์และจะกระทบภาคส่งออกของไทยไปอาเซียน โดยไทยส่งออกไปอินโดนีเซียประมาณ 4% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนยานยนต์ นอกจากนี้ ภูมิภาคอาเซียนเชื่อมโยงกันหมด เช่น สิงคโปร์ มีสัดส่วนการส่งออกไปอินโดนีเซีย 8% ก็จะได้รับผลกระทบ และไทยก็พึ่งพาตลาดสิงคโปร์ค่อนข้างมาก

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของประเทศในตลาดเกิดใหม่จะไม่สามารถหยุดยั้งอัตราเงินเฟ้อสูงรุนแรง และการอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงของค่าเงินได้ การสร้างความเชื่อมั่นด้วยการลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ลดการขาดดุลงบประมาณ ลดภาระหนี้สินต่างประเทศ คือ ทางออกของวิกฤตค่าเงิน และประเทศที่มีการเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดล้วนมีค่าเงินที่มีเสถียรภาพ และไม่เป็นเป้าหมายของการถูกโจมตีให้อ่อนค่าลง

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤตค่าเงินในตลาดเกิดใหม่นั้นยังกระทบไทยค่อนข้างจำกัด ขณะนี้ประเทศไทยมีการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับ 45-47 พันล้านดอลลาร์

มีทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ มีหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นไม่มาก อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานยังค่อนข้างต่ำ สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของภาคธุรกิจแม้จะเพิ่มขึ้น แต่ยังคงเป็นการกู้เงินในประเทศเป็นหลัก หากเกิดกระแสเงินไหลออกและต้องชำระหนี้ต่างประเทศ ไทยอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถรับมือได้

แต่เศรษฐกิจไทยอาจมีความเสี่ยงเรื่องหนี้สาธารณะและฐานะทางการคลังเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป หากไม่มีการปฏิรูปรายได้ภาครัฐทั้งระบบภาษีและรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขด้วยการสร้าง “ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ”

ไทยยังมีปัญหาสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ยังค่อนข้างสูงอยู่ หลังปี พ.ศ. 2546 สัดส่วนรายได้ของครัวเรือนต่อรายได้ประชาชาติลดลงเรื่อย ๆ สะท้อนว่าการที่จีดีพีเติบโตดีอาจไม่ได้หมายถึงรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ทั้งปีของครัวเรือนโดยเฉลี่ยในช่วงปี พ.ศ. 2558-2560 สะท้อนรายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยลดลง และมูลค่าหนี้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับที่มูลค่าหนี้ครัวเรือนโดยรวมของทุกกลุ่มรายได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยมาจากการกู้ยืมของรายได้สูงเป็นหลัก แม้การเลือกตั้งในปีหน้าจะไม่ได้ทำให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ แต่เป็นระบอบกึ่งประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่เชื่อว่าจะส่งผลบวกต่อภาคการลงทุน การเปิดเสรีการค้ามากกว่าระบอบรัฐประหารอย่างแน่นอน อย่างน้อยที่สุดก็สามารถเริ่มต้นเจรจาการค้าและการลงทุนกับอียูได้ มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายค้าน มีเสรีภาพมากขึ้น


หากหลังการเลือกตั้งสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้ก็จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น