ศาสตร์พระราชา แก้ปัญหาน้ำครบวงจร

ศาสตร์พระราชา แก้ปัญหาน้ำครบวงจร
คอลัมน์ เปิดมุมมอง โดย อวิรุทธ์ สุขสมอรรถ ทีมกรุ๊ป

ปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากความไม่สมดุลระหว่าง “ปริมาณ” และ “ความต้องการ” ส่งผลให้เกิดทั้งภาวะ “น้ำขาด” และ “น้ำเกิน” อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตประชาชน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศมาเป็นระยะเวลายาวนาน การบริหารจัดการและควบคุมน้ำให้มีอุปโภค บริโภคอย่างพอเหมาะพอดีในทุก ๆ ปี จึงเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ

แนวทางการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้การยอมรับและนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง คือ แนวทางการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “ปราชญ์แห่งน้ำ” 

แนวทางการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มิใช่เพียงเรื่องของการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้มีน้ำพอกินพอใช้ คลี่คลายอุทกภัย หรือบรรเทาปัญหาภัยแล้งเท่านั้น หากแต่พระองค์ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดความสมดุลทั้งด้านปริมาณและคุณภาพอย่างยั่งยืน โดยการแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างครบวงจรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ นับตั้งแต่การดึงน้ำจากฟ้ามาใช้ประโยชน์ การสงวนรักษาแหล่งต้นน้ำลำธาร การอนุรักษ์ดิน อนุรักษ์น้ำ ไปจนถึงการบำบัดน้ำเสีย เพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่

ฝนหลวง น้ำพระราชทานจากฟ้า สู้ปัญหาภัยแล้ง

ฝนหลวงพระราชทาน บันดาลฝนนอกฤดู สำหรับพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือไม่มีโครงการชลประทานเข้าถึง

พื้นที่ต้นน้ำ

อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ให้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งเก็บกักและชะลอน้ำ

สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น หรือฝายต้นน้ำ (check dam) กั้นขวางทางเดินของลำน้ำขนาดเล็กบนพื้นที่ลาดชัน เพื่อช่วยให้ดินชุ่มชื้นและชะลอการไหลของน้ำ ในกรณีที่มีน้ำป่าไหลหลาก

ฝายเหล่านี้จะช่วยทำหน้าที่ดักตะกอนไม่ให้ไหลลงไปในลุ่มน้ำตอนล่างอันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำตื้นเขิน ช่วยลดการพังทลายของหน้าดิน และช่วยลดความรุนแรงของกระแสน้ำยามเกิดอุทกภัย

สร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ อุทกภัย รักษาระบบนิเวศลำน้ำ และสร้างอาชีพเสริมให้ราษฎร เช่น เขื่อนขุนด่านปราการชลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครนายก เป็นต้น

พื้นที่กลางน้ำ

สร้างเขื่อน ฝาย แก้มลิง สระเก็บน้ำ ตามความเหมาะสมของปัญหาและสภาพพื้นที่ เช่น โครงการเขื่อนป่าสัก

ชลสิทธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ลพบุรี เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค การเกษตร บรรเทาอุทกภัยทั้งในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฯลฯ

เพิ่มแก้มลิงในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ 

ปลูกหญ้าแฝก เพื่อชะลอความเร็วของกระแสน้ำที่ไหลผ่าน ช่วยป้องกันการถูกกัดเซาะพังทลายของหน้าดิน ช่วยรักษาหน้าดิน กรองตะกอนดิน อีกทั้งยังสามารถช่วยดูดซับโลหะหนักในดิน และสารเคมีที่เป็นพิษไม่ให้ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ และช่วยเก็บความชุ่มชื้นของดินไว้ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์

พื้นที่ปลายน้ำ

สร้างเครื่องมือระบายน้ำ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ในฤดูน้ำหลาก เพราะมวลน้ำจากพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ จะไหลมารวมกันก่อนออกสู่ทะเล เช่น โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรสาคร โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นต้น

สร้างคันกั้นน้ำ เพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุน

บำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติและการเทคโนโลยีง่าย ๆ เช่น การใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย การปลูกผักตบชวา กังหันน้ำชัยพัฒนา

จะเห็นได้ว่า “ศาสตร์” การบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นั้นมิได้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องน้ำ หากแต่ทรงมองปัญหาอย่างเป็นระบบและพัฒนาครบอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งถือเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนน้อมนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการคลี่คลายบรรเทาปัญหาและเป็นแนวทางไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน