พร้อมหรือยัง รับมือ “สังคมอายุยืน”

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ดิษนีย์ นาคเจริญ

 

ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญที่จะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ และอนาคตของประเทศที่อาจมากไปกว่าเทคโนโลยี “ดิสรัปชั่น” นั่นคือการเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” หรือถ้าจะให้ครอบคลุมคงต้องเรียกว่า “สังคมอายุยืน” เพราะเกี่ยวพันกับคนทุกคน ไม่เฉพาะแค่ “ผู้สูงอายุ” หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ปี 2564 ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยคิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรในประเทศ เป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ และอีกสิบปีถัดไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% 

หนึ่งในความท้าทายจึงหนีไม่พ้นปัญหาขาดแคลนแรงงานในวัยทำงาน ขณะที่ภาระทางการคลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้านบำนาญ ค่ารักษาพยาบาลผู้สูงอายุ ความช่วยเหลือ และระบบสวัสดิการต่าง ๆ

แน่นอนว่า ประชาชนย่อมคาดหวังให้ภาครัฐจัดการสวัสดิการ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้ดีขึ้น แต่ทำได้แค่ไหนไม่ง่าย และยิ่งเป็นไปได้ยาก ถ้าเศรษฐกิจโตถดถอย

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2562 ในหัวข้อ “สังคมอายุยืน : แข่งขันได้ และอยู่ดี มีสุข ได้อย่างไร ?”

“ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธาน ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การเข้าสู่สังคมอายุยืนที่มาพร้อมสังคมสูงวัย เป็นเรื่องที่ภาคส่วนต่าง ๆ ต้องวางแผนรองรับ และถือเป็นความท้าทายใหม่ของประเทศในหลายด้านด้วยทั้งด้านเศรษฐกิจที่ต้องสร้างโอกาสในการแข่งขันและรักษาอัตราการเติบโตให้สามารถสร้างรายได้เลี้ยงคนไทยที่อายุยืนขึ้นได้ เพราะจำนวนแรงงาน และผลิตภาพจะลดลงตามอายุ

เรื่องการออกแบบเมือง การรักษาสุขภาพ การออมเงินและการพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับช่วงอายุที่ยืนยาวขึ้น

“ต่อไปคนไทยจะมีอายุเกิน 100 ปี เป็นเรื่องปกติ หากเราไม่เข้าใจว่าโลกกำลังเปลี่ยน เราจะนิยามคำว่าสูงอายุผิดไป และลงทุนในตนเองต่ำไป เลิกทำงานเร็วเกินไป หรือที่เด็กรุ่นใหม่อยากเกษียณอายุ 40 ปี ถ้าไม่เข้าใจ เราจะอยู่ในโลกที่อายุยืนอย่างมีความสุขน้อยลง”

อายุยืนไม่ได้หมายถึงแค่ “แก่นานขึ้น” แต่หมายถึงการที่วัยกลางคน และวัยรุ่นขยายออกไป มีชีวิตที่มีหลายช่วงมากขึ้น เริ่มจากเรียนหนังสือ ทำงานแล้วกลับไปเรียนและไปทำงาน มีช่วงชีวิตกึ่งเกษียณ และเกษียณ จากเดิมมีแค่ 3 ช่วง เรียนหนังสือ ทำงาน และเกษียณ ดังนั้น ถ้าไม่เข้าใจว่าโลกเปลี่ยนไป จะมองโลกไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทำให้นิยามคำว่า “ผู้สูงอายุ” โดยใช้อายุต่ำเกินไป

ปัจจุบัน ประเทศไทยนิยามไว้ที่ 60 ปี แต่ถ้าอายุยืนขึ้นก็ควรต้องปรับนิยามผู้สูงอายุใหม่ เพิ่มเป็น 65 ปี เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว ยืดการรับบำนาญเพื่อยืดอายุการทำงาน และยืดเวลาการออม

มีการประมาณว่า สังคมสูงวัยส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่จะลดลงในอีก 30 ปีข้างหน้า ปีละ 0.8%

ทางแก้มีตั้งแต่การลดการออกจากตลาดแรงงานของคนอายุ 50-59 ปี ดึงคนอายุ 60-69 ปี กลับมาทำงานเพิ่มแรงงานต่างด้าว และเพิ่มการใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มากขึ้น นอกจากช่วยแก้ปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงได้แล้ว ยังส่งผลต่อสังคมด้านอื่นทำให้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมดีขึ้นด้วย

ในญี่ปุ่น เกษตรกรส่วนใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี จึงนำระบบอัตโนมัติมาใช้ ทำให้ต้นทุนค่าแรงลดลง และเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น

สำหรับประเทศไทย แม้จะขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 แต่โรงงานไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในอุตสาหกรรม 2.0 จึงควรเร่งส่งเสริมและผลักดันให้มีการใช้งานระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มากขึ้น

ในระดับปัจเจกก็ต้องเตรียมตัวอย่างมากเช่นกัน นอกจากสุขภาพร่างกายที่ควรใส่ใจดูแลเพื่อให้สามารถเป็นผู้สูงอายุที่มีพลัง (active aging) พึ่งพาตนเองได้แล้ว ยังต้องคิดเผื่อถึงการลงทุนในความรู้ และทักษะต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะจะอยู่รอดได้ในสังคมอายุยืนต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่นับการวางแผนการออมเงินไว้ดูแลตนเองหลังเกษียณอีก

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!