โรคอัลไซเมอร์

คอลัมน์ Healthty Aging

โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ผมกลัวมากเพราะเป็นโรคที่ค้นพบมาเมื่อ ค.ศ. 1906 แต่แม้เวลาจะผ่านมาแล้วถึง 113 ปี นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถค้นพบวิธีรักษาโรคสมองเสื่อมดังกล่าวได้ โรคสมองเสื่อมมีอยู่หลายประเภท แต่ส่วนใหญ่คือ 60-70%

จะเป็นโรคอัลไซเมอร์โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคของคนแก่ กล่าวคือ จากสถิติพบว่าชาวอเมริกัน 65-74 ปีจะเป็นโรคดังกล่าวประมาณ 3-4% แต่เมื่ออายุสูงขึ้นสัดส่วนของผู้เป็นอัลไซเมอร์จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ ชาวอเมริกันที่อายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้นประมาณ 30-40% จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเมื่อเป็นแล้วส่วนใหญ่จะเสียชีวิตภายใน 8-10 ปี แต่มีบางกรณีที่มีชีวิตต่อไปได้อีกถึง 20 ปี แต่ก็ไม่น่าจะเป็นการมีชีวิตที่มีคุณภาพแต่อย่างใด

การแก่ตัวนั้นยับยั้งไม่ได้ นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าคนที่มียีน APOE-4 มีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ทั้งนี้ 20% ของชาวอเมริกันมียีนดังกล่าว สำหรับประเทศไทยนั้นได้เคยมีการเก็บข้อมูลจากผู้สูงอายุ 1,973 คน (ชาย 689 คน หญิง 1,284 คน) เมื่อปี 2014 และพบว่า 22.85% มียีน APOE-4 ดังกล่าว ดังนั้น จึงน่าจะสรุปได้ว่าคนไทยประมาณ 1 ใน 5 คนน่าจะมียีนดังกล่าวเช่นกัน

งานวิจัยดังกล่าว ซึ่งปรากฏในรายงานอัลไซเมอร์นานาชาติ (Alzheimer’s Disease International Report ปี 2014) ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทยนั้นประมาณ 53,000 ล้านบาทในปี 2015 โดยมีผู้ป่วยเป็นโรคดังกล่าว 600,000 คน ซึ่งคำนวณได้ว่าเป็นเงิน 88,750 บาทต่อคนต่อปี แต่ภาระดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะได้มีการประเมินว่า จำนวนผู้ที่จะเป็นอัลไซเมอร์ในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,117,000 คนในปี 2030 และ 2,077,000 คนในปี 2050

เนื่องจากอัลไซเมอร์นั้นแทบจะไม่มียารักษา ภาระหลักจึงจะไปตกอยู่กับการดูแลผู้ป่วย ซึ่งน่าจะเป็นส่วนที่เบิกเงินจากระบบประกันสุขภาพได้ไม่มาก จึงน่าจะเป็นภาระหนักมากสำหรับลูกหลานและญาติ ทั้งนี้ ได้มีการประเมินว่าค่ายารักษาอัลไซเมอร์นั้นคิดเป็นเพียง 5% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ผู้ที่หวังว่านักวิทยาศาสตร์และบริษัทยาจะสามารถค้นพบยารักษาโรคอัลไซเมอร์ในเร็ววันนี้อาจต้องผิดหวัง เพราะปรากฏว่า

1) ในช่วงปี 2002-2012 นั้น ตำรับยาใหม่ที่นำมาทดลองเพื่อรักษาโรคอัลไซเมอร์นั้น 99.6% ประสบความล้มเหลว

2) ยารักษาอัลไซเมอร์ล่าสุดที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ คือ ปี 2003 หรือ 16 ปีมาแล้ว

3) ปัจจุบันก็ยังมีความพยายามค้นคว้าหายาเพื่อรักษาโรคอัลไซเมอร์ แต่งานวิจัยทดลองยา 2-3 สูตรใหม่ได้ถูกยกเลิกไปในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะประสบความล้มเหลว นอกจากนั้น บริษัทยายักษ์ใหญ่ คือ Pfizer ก็ได้ตัดสินใจยุติการวิจัยค้นคว้ายาเพื่อรักษาโรคอัลไซเมอร์ทุกชนิด

จากข้อมูลที่กล่าวถึงข้างต้น สรุปได้ว่าโรคอัลไซเมอร์มีปัจจัยเสี่ยง 2 ปัจจัยหลัก คือ อายุ และกรรมพันธุ์ (APOE-4) และปัจจุบันไม่มียารักษา จึงเป็นโรคที่น่ากลัว ทั้งนี้ การสำรวจความเห็นที่อังกฤษเมื่อปี 2014 พบว่า ผู้สูงอายุ 2/3 กังวลว่าจะเป็นอัลไซเมอร์ แต่เพียง 10% เท่านั้นที่กลัวว่าตัวเองจะเป็นโรคมะเร็ง

โรคอัลไซเมอร์เกิดขึ้นได้อย่างไร

ปัจจุบันมีหลายทฤษฎีที่ถูกนำเสนอมาอธิบายโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งผมขอนำมาสรุปโดยย่อ ดังนี้

1) การจับตัวกันเป็นก้อนของโปรตีนที่เรียกว่า อะไมลอยด์เบต้า (amyloid beta) จนเป็นคราบหินปูน (plaque) ซึ่งไปอุดตันซีแนปส์ (synapse) หรือช่องว่างที่ปลายประสาทของเซลล์สมอง ทำให้ระบบสื่อสารระหว่างเซลล์สมองชำรุด ทั้งนี้ จะต้องมีการสะสมของอะไมลอยด์เบต้าเป็นเวลานานนับสิบปีจึงจะทำให้เกิดความเสียหาย อันเป็นที่ประจักษ์ได้ในที่สุด ตั้งแต่ประมาณอายุ 65 ปีขึ้นไป

2) การพันกันจนยุ่ง (tangle) ของโปรตีนที่เรียกว่า เทา (tau protein) ซึ่งในที่สุดทำความเสียหายให้กับระบบประสาทของเซลล์สมอง ทั้งนี้ ได้มีการถกเถียงกันว่า โรคสมองเสื่อมเกิดจากโปรตีนที่เรียกว่า เทา พันกันยุ่ง หรือเกิดจากการสะสมตัวของอะไมลอยด์เบต้า จนเป็นคราบหินปูน หรือเกิดจากทั้งสองปัจจัย แต่ปัญหาคือยาทดลองที่กำจัดทั้งโปรตีนที่เรียกว่า เทา และยาทดลองที่กำจัดอะไมลอยด์เบต้าต่างก็ไม่สามารถรักษาผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ ทำให้มีนักวิจัยบางกลุ่มพยายามแสวงหาสาเหตุอื่นที่นำมาซึ่งโรคอัลไซเมอร์

3) โรคเบาหวาน นักวิจัยที่ Mayo Clinic และกลุ่มอื่น ๆ มีความเชื่อว่า โรคอัลไซเมอร์นั้นมีสาเหตุมาจากอาการของโรคเบาหวาน (จึงเรียกโรคนี้ว่าเป็นเบาหวาน ประเภท 3) ได้แก่ การที่เซลล์สมองโดยเฉพาะในผู้ที่มียีน APOE-4 เมื่อไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้เพิ่มขึ้นในสมองได้ ก็จะทำให้เซลล์สมองไม่สามารถทำงานตามปกติได้ เช่น การจดจำหรือการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จะถูกกระทบ

4) โรคเริม (herpes) งานวิจัยล่าสุดนำเสนอทฤษฎีใหม่ว่า ร่างกายผลิตอะไมลอยด์เบต้ามาเพื่อต่อสู้กับไวรัสและเชื้อโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เริม หรือ herpes ที่เรียกว่า simplex virus type 1 (HSV-1) ซึ่งทั่วโลกนั้นมีคนที่ร่างกายต่อสู้กับไวรัสนี้มากกว่า 2 ใน 3 ของประชากรโลกทั้งหมด โดย Ruth Itzhaki แห่งมหาวิทยาลัย Manchester ทำการทดลองกับชาวไต้หวันกว่า 34,000 คนในปี 2018 พบว่าคนที่เป็นโรคเริมและมีไวรัส HSV-1 นั้น มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมมากกว่าคนที่ไม่เป็นโรคเพิ่มถึง 2.56 เท่า และเมื่อได้รับการรักษาโรคเริมแล้ว ก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อมลงไปได้กว่า 80% การดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์

นอกจากการระมัดระวังไม่ให้เป็นโรคเริมดังกล่าวข้างต้นแล้ว เราอาจจะสามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้โดยการระวังตัว ดังนี้

1) อย่าเป็นโรคเบาหวาน ดังที่ได้กล่าวเอาไว้ในข้อ 3 ข้างต้น

2) นอนหลับลึกให้ได้คืนละ 1 ชั่วโมง 50 นาที ดังที่ผมเคยเขียนถึงในตอนก่อนหน้า สมองของเรานั้นมีระบบชำระล้างและกำจัดขยะอะไมลอยด์เบต้าไม่ให้กระจุกตัวเป็นก้อน และกำจัดโปรตีนที่เรียกว่า เทา ไม่ให้พันกันยุ่ง แต่ระบบชำระล้างดังกล่าว (คือ glymphatic system) จะทำงานไม่ได้หากไม่หลับลึก

3) ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง มีงานวิจัยมากมายที่พบว่าการออกกำลังกายเป็นประจำทำให้ระบบไหลเวียนและเส้นเลือดแข็งแรง ซึ่งย่อมจะทำให้สมองแข็งแรงไปด้วย เพราะสมองนั้นมีน้ำหนักเพียง 3-4% ของน้ำหนักของร่างกาย แต่ใช้พลังงานมากถึง 20% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของร่างกาย และเราก็รู้ว่าการใช้พลังงานนั้นต้องพึ่งพาการไหลเวียนของเลือด นอกจากนั้น การออกกำลังกายยังช่วยต่อต้านการเป็นโรคอัลไซเมอร์
โดยการเพิ่มปัจจัยบำรุงสมองที่เรียกว่า brain-derived neurotrophic factor หรือ BDNF

4) รักษาสุขภาพโดยเฉพาะการไม่เป็นโรคหัวใจดังที่กล่าวข้างต้น สมองใช้เลือดมาก ดังนั้น จึงพบว่าผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์นั้น 80% จะเป็นโรคหัวใจด้วย

ประเด็นสุดท้าย คือ นักวิชาการเชื่อว่าการสะสมตัวของอะไมลอยด์เบต้า และโปรตีนที่เรียกว่าเทานั้น เริ่มต้นเมื่ออายุประมาณ 40 ปี แต่ยังไม่แสดงอาการจนกระทั่งอายุ 65 ปีหรือมากกว่านั้น


ดังนั้น ผมจึงขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านปรับการดำเนินชีวิตให้แต่เนิ่น ๆ อย่ารอจนกระทั่งอายุเกือบ 60 ปีเช่นผมครับ