อย่ารุมทึ้งการศึกษาไทย

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

จากข่าวพาดหัวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 20-วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน 2562 ที่บอกว่า “ทุนจีนยกทัพไล่ซื้อมหา”ลัย ธุรกิจการศึกษาวิกฤตขาดสภาพคล่อง”

ซึ่งมองเผิน ๆ เหมือนไม่น่าจะมีอะไรมาก เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกลไกธุรกิจ เมื่อธุรกิจขาดทุนย่อมต้องหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้ามาบริหารเพื่อให้มีกำไร แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปจะพบว่า “ประเด็น” ดังกล่าวเกี่ยวโยงกับการศึกษาทั้งระบบ

เพราะเมื่อหลายสิบปีผ่านมาสถานการศึกษาเปิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ทั้งนั้น เพื่อแย่งกันแข่งขันรับบุคลากรทางการศึกษาโดยไม่มีระบบคัดกรองที่ดี และไม่เฉพาะแต่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น

หากทุกภูมิภาคทั่วประเทศก็ต่างเปิดสถานการศึกษากันหลายแห่ง โดยเฉพาะสาขาที่ได้รับความนิยมในกรุงเทพฯอย่างคณะนิเทศศาสตร์, คุรุอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งจะเห็นว่าเกือบทุกมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลหลายแห่งล้วนเปิดสาขานี้กันค่อนข้างมากรวมถึงมหา”ลัยเอกชนด้วย

แต่เมื่ออัตราการเกิดของประชากรลดน้อยลง กอปรกับธุรกิจสื่อสารมวลชนถูกดิสรัปต์อย่างรุนแรง จึงทำให้ธุรกิจทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับมีเดียต่างล้มหายตายจากไปค่อนข้างมาก จึงทำให้ต้นทางของการศึกษาทางด้านนี้แทบไม่มีคนเรียนเพราะรู้ว่าเรียนไปก็ไม่มีงานทำเรียนไปก็ตกงาน

จนที่สุดคณะต่าง ๆ เหล่านี้ของหลายมหา”ลัยเอกชน และสถาบันราชภัฏจึงค่อย ๆ ยุบสาขาที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชนลง ตรงกันข้าม ก็มีหลายมหา”ลัยปรับตัวด้วยการเปิดหลักสูตรดิจิทัลมีเดียและดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมากขึ้น เพียงเพื่อว่าเมื่อบัณฑิตจบออกไปน่าจะตอบโจทย์ตลาดงานที่มุ่งเข้าหาธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น

ไม่เท่านั้น หลายคณะของมหา”ลัยต่างปรับหลักสูตรเพื่อเข้าหาดิจิทัลมากขึ้นเช่นกัน มีเพียงไม่กี่มหา”ลัยเท่านั้นที่อยู่ได้ โดยเฉพาะมหา”ลัยของรัฐที่ยังไม่ออกนอกระบบการศึกษา แต่กระนั้นระยะยาวไม่อาจมั่นใจว่ามหา”ลัยของรัฐเหล่านี้จะยืนระยะ

ในธุรกิจการศึกษาได้นานสักเท่าไหร่เพราะจำนวนตัวเลขของผู้เรียนยังหายใจรดต้นคออยู่มาก

ยิ่งมหา”ลัยแถวสองไม่ต้องพูดถึง…ใครเล่าจะมาเรียน

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นมหา”ลัยแถวสองล้วนต่างปรับกลยุทธ์ลด แลก แจก แถม เพื่อล่อใจให้นักศึกษาเข้ามาเรียนกับมหา”ลัยของตน เพราะเขารู้แล้วว่าหากไม่ทำเช่นนี้อาจต้องยุบมหา”ลัยในที่สุดหรืออาจต้องหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เพื่อมาต่อลมหายใจของตัวเอง

แต่จะมีสักกี่รายที่กล้า

ผลเช่นนี้ ทำให้หลายมหา”ลัยจึงใช้เอเย่นต์มาช่วยทำการโรดโชว์มหา”ลัยของตัวเองเพื่อไปจับนักศึกษา CLMV หรือบางทีก็มุ่งไปตลาดจีน เพราะเขาเห็นแล้วว่าตลาดจีนเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สนใจเข้ามาเรียนในภาคการศึกษาไทย

เพราะก่อนหน้ามีนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร รวมถึงเมืองใหญ่ ๆ ในอีกหลายจังหวัด ทั้งในส่วนของโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน หรือการติดต่อผ่านเอเย่นต์เพื่อเข้ามาเรียนเอง โดยเฉพาะกับคณะที่สอนเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการ, การเกษตร เพราะเขาต้องการที่จะนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดเพื่อทำธุรกิจต่อไป

แต่เมื่อนักลงทุนจีนเข้ามาร่วมลงทุนเอง ทิศทางในการหาบุคลากรทางการศึกษาจากประเทศจีนก็ง่ายขึ้น ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะมีนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนในเมืองไทยเพิ่มมากขึ้นด้วยนับจากนี้ไป

ไม่เท่านั้นหากนักศึกษาในกลุ่ม CLMV จะมาสมทบอีกส่วนหนึ่ง

คำถามที่ตามมา คือ นักบริหารการศึกษาของแต่ละมหา”ลัยจะต้องไม่ย่ำเท้าอยู่กับที่ แต่จะต้องพยายามเปิดหลักสูตร หรือสาขาให้ตอบสนองกับกลุ่มลูกค้าต่างชาติให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน จะต้องพยายามให้นักศึกษาของไทยเรียนในสิ่งที่ตลาดต้องการ

ไม่ใช่เรียนเพราะคณาจารย์ต้องการหรือไม่ใช่เพราะคณาจารย์มีความรู้ แต่เฉพาะเรื่องเหล่านี้ ตรงนี้จึงเป็นคำถามปลายเปิดที่ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) คนใหม่จะต้องทำการบ้านและจะต้องเข้ามาช่วยเหลือมหา”ลัยของรัฐและเอกชนที่กำลังประสบชะตากรรมเช่นนี้

หาไม่แล้วระบบการศึกษาไทยคงเละเทะแน่ เพราะทุกคนต่างมองแต่ทางรอดของตัวเองโดยไม่ดูดำดูดีเลยว่าตอนนี้

นักศึกษาไทยจะเป็นอย่างไรกันบ้าง เรียนจบแล้วจะมีงานทำหรือไม่ หรือเขาจะนำองค์ความรู้จากการเรียนในระบบไปต่อยอดเพื่อทำงานในอนาคตได้หรือเปล่าต้องช่วยกันอย่างจริงจังแล้วละครับ


ก่อนที่จะมีทุนจากประเทศอื่น ๆ มารุมทึ้งระบบการศึกษาของไทย ?