รถไฟยุคไร้รอยต่อ

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

เอ่ยถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน นอกจากโครงการรถไฟไทย-จีน กับรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เมกะโปรเจ็กต์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่เปิดหวูดก่อน แต่เคลื่อนขบวนช้า ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง ไม่ใส่เกียร์ไฮสปีด จะมีก็แต่ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ หรือไฮสปีดเทรนอีอีซีที่ข่าวคราวความเคลื่อนไหวมีมากกว่า เพราะแอ็กทีฟกว่า 2 โครงการแรก

โดยเฉพาะไฮสปีดเทรน อีอีซี มูลค่าลงทุนมหึมากว่า 2 แสนล้านบาทนี้ หลายคนอาจคุ้นหูในชื่อไฮสปีดเทรน ซี.พี. เพราะนอกจากบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ อาณาจักรธุรกิจของกลุ่มตระกูล “เจียรวนนท์” คือกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร จะเป็นตัวเต็งที่จะคว้าสัมปทานโครงการหลักที่จะชี้เป็นชี้ตาย การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ตั้งแต่ต้นแล้ว

ผลการประมูลที่ออกมาก็เป็นไปตามคาด ไม่มีพลิกล็อกเหลือแค่รอลงนามในสัญญาสัมปทาน ก็จะปักหมุดก่อสร้างได้ ส่วนจะช่วยหนุนศักยภาพของเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี พลิกอนาคตประเทศ พลิกเศรษฐกิจไทยให้เติบโตก้าวกระโดดได้อีกครั้งได้จริงหรือไม่ ต้องรอพิสูจน์ฝีมือในการบริหารจัดการของรัฐบาลใหม่ ว่าจะสานต่อโมเดลเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 ให้เป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด

ขณะเดียวกันในโลกปัจจุบันที่การติดต่อสื่อสาร การค้า การลงทุน ต้องอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดิจิทัลซึ่งมีผลกระทบทั้งด้านลบและบวกถูกนำมาใช้แพร่หลายมากขึ้น พลิกรูปแบบการทำธุรกิจแตกต่างจากแบบเดิม ๆ เพื่อตอบสนองความสะดวกสบาย ช่วยขยายฐานลูกค้าและช่องทางการตลาด ช่วยลดต้นทุน รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าและบริการฉันใด ในแง่โลจิสติกส์ การขนส่งและการเดินทาง ระบบรางก็ถูกนำมาใช้เพื่อตอบโจทย์อนาคตฉันนั้น

แม้จะมีหนี้สะสมอยู่กว่าแสนล้านบาท บวกกับล่าสุดรัฐบาลได้จัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เป็นหน่วยงานใหม่ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์การพัฒนาการขนส่งทางราง และเป็นผู้กำกับดูแลระบบรางทั้งประเทศ ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า โดยการรถไฟฯจะลดบทบาทเป็นเพียงผู้ประกอบการรายหนึ่ง

แต่อย่าปรามาสว่าองค์กรเก่าแก่อายุกว่า 120 ปีองค์กรนี้จะมีบทบาทลดน้อยลง เพราะนอกจากโปรเจ็กต์ใหญ่ในมือหลายโครงการทั้งที่อยู่ระหว่างดำเนินการและจะลงทุนเพิ่มในอนาคตล้วนมีส่วนสำคัญต่อการเชื่อมโยงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ เศรษฐกิจไทยแลนด์ยุค 4.0 รถไฟไทยจึงมีทั้งโอกาสและความท้าทาย

ยกตัวอย่างโครงการรถไฟเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การพัฒนาระบบราง สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าบริเวณชายแดน โดยมีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานให้มีความต่อเนื่องและเชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ สำหรับระยะที่ 1 มี 5 เขต คือ ด่านแม่สอด จ.ตาก ด่านบ้านหาดเล็ก จ.ตราด ด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ด้านมุกดาหาร จ.มุกดาหาร ด่านปาดังเบซาร์ จ.สงขลา

และในอนาคตจะมีการก่อสร้างโครงข่ายเส้นทางให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงจากเพื่อนบ้านสู่โลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนและจีน ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย-สปป.ลาว-คุนหมิง รถไฟทางคู่ ช่วงกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน ถึงท่าเรือน้ำลึกทวาย รถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เชื่อมต่อ สปป.ลาวไปถึงจีน  รถไฟทางคู่ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม เชื่อม สปป.ลาว-จีน รถไฟทางคู่ช่วงมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด เชื่อมกัมพูชา รถไฟทางคู่ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เชื่อมมาเลเซีย

ถามว่า เราจะได้อะไรจากการเชื่อมต่อระบบรางกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งในภูมิภาค สู่โลก การรถไฟฯเฉลยว่า จะมีการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการค้าชายแดน ตัวเลือกในการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น เมืองขยายตัวมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพื่อนบ้านขนส่งสินค้าผ่านทางเรือน้ำลึกของไทยเพิ่มมากขึ้น

การท่องเที่ยวระหว่างประเทศผ่านระบบรางจะมีมากขึ้น คนไทยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำมาซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจชุมชน รายได้ประชาชนเพิ่มขึ้น ฯลฯ

ต้องเชียร์ให้รัฐบาลเร่งสปีดระบบรางไร้รอยต่อ เพราะยิ่งเกิดเร็ว อานิสงส์ก็จะมาถึงเร็ว