ดูแลค่าบาทประคอง “ส่งออก-ท่องเที่ยว”

แฟ้มภาพ

บทบรรณาธิการ

 

เงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าต่อเนื่อง แม้อ่อนตัวลงเล็กน้อยจากที่แข็งค่าสูงสุดในรอบ 6 ปี ที่ 30.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐช่วงต้นสัปดาห์ก่อน สร้างแรงกดดันทำให้ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวเผชิญปัญหาหนักมากขึ้น

ล่าสุดวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา แม้เงินบาทจะอ่อนค่าลงอยู่ในระดับ 30.75 บาท/ดอลลาร์ แต่ยังคงต้องจับตาดูการส่งสัญญาณจากการแถลงนโยบายการเงินของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ต่อสภาคองเกรส

กับการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟดเดือนที่ผ่านมาว่า การประชุมเฟดในรอบเดือน ก.ค.-ก.ย.นี้ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% หรือไม่ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าหากเฟดปรับดอกเบี้ยลง คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุม กนง.ครั้งหน้า

สำหรับกรอบค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 30.40-30.90 บาท/ดอลลาร์ และระบุว่าการคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของเฟด กับการเจรจาคลี่คลายข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ยังเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน

ทิศทางเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว บวกกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และสงครามทางการค้า ไม่ได้สร้างปัญหาเฉพาะภาคการส่งออกจากที่ราคาสินค้าไทยพุ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบสกุลเงินอื่นเท่านั้น แต่การท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องจ่ายซื้อสินค้าและบริการแพงขึ้นด้วย

เท่ากับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขณะนี้ชะลอตัวมีปัญหาหนักมากขึ้น ที่น่าห่วงคือสินค้าเกษตรส่งออกหลักไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ประมง อาหารแปรรูป ฯลฯ จะมีขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ส่งผลต่อเนื่องทำให้รายได้ภาคเกษตรลดน้อยลงด้วย

กรณีดังกล่าว แม้ ธปท.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลค่าเงินบาท ติดตามสถานการณ์และมีมาตรการลดผลกระทบไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนเร็วเกินกว่าที่คาด เริ่มจากการลดวงเงินออกพันธบัตรช่วงก่อนหน้านี้ แต่ยังต้องเกาะติดความเคลื่อนไหวของค่าบาท และออกมาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงการคลัง เกษตรและสหกรณ์ พาณิชย์ อุตสาหกรรม ท่องเที่ยวและกีฬา ฯลฯ ต้องเร่งหาทางป้องกันแก้ไขเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจด้วยการดูแลประคับประคองภาคการเกษตร การส่งออก ท่องเที่ยว ไม่ให้ตกที่นั่งลำบากจากเงินบาทที่แข็งค่าและผันผวน ที่สำคัญการเมืองช่วงรอยต่อต้องไม่สร้างปัญหาซ้ำ