สู่ “ถังขยะรวม” ?

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สร้อย ประชาชาติ

ย้อนไปเมื่อสัก 40 กว่าปีก่อน น่าจะเป็นยุคแรก ๆ ที่ประเทศไทยเริ่มแคมเปญรณรงค์เพื่อจัดการขยะในมือของ “ทุกคน” อย่างจริงจัง ด้วยการ “ทิ้งลงถัง” และใช้เวลาอีกพักใหญ่พัฒนาเป็น “แยกขยะ” ก่อนทิ้ง ซึ่งจากการสังเกตคนรอบข้างพบว่า มีหลายบ้านเริ่มทำอย่างจริงจัง โดยส่วนตัวผู้เขียนเอง ที่บ้านก็ได้แยกขยะที่ย่อยสลายได้จากครัวเรือน เพื่อฝังกลบทำปุ๋ยบำรุงดินมาตั้งแต่สมัยผู้เขียนเพิ่งเข้าเรียนชั้นประถม จนกระทั่งปัจจุบันทำงานมาหลายสิบปีแล้วก็ยังทำอยู่

แต่ทุกวันนี้ สิ่งที่ได้พบจาก “ขยะ” ในบ้านมี 2 สิ่งที่น่าสนใจ อย่างแรกคือ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน
“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ไม่ว่าจะหลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แม้แต่โทรศัพท์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่า ๆ (ที่รถซาเล้งไม่รับ) ยังมีปัญหาในการ “ทิ้ง” เหมือนเดิม นั่นคือ ต่อให้มีการแยกออกจากขยะทั่วไป เป็นถุงต่างหาก ต่อให้ใส่เป็นถุงสีแดง (ตามที่ภาครัฐรณรงค์) หรือยื่นให้คนเก็บขยะแบบกำชับว่า “ขยะพิษ” แม้แต่นำไปใส่ “ถังขยะพิษ” ที่ กทม.นำมาวางไว้แถว ๆ ปั๊มน้ำมัน สุดท้ายปลายทางที่รถขยะของ กทม.จะถูกโยน “รวม” กับขยะอื่น ๆ

จึงไม่น่าแปลกใจที่รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2561 ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า “ของเสียอันตราย” จากชุมชน เกิดขึ้นประมาณ 638,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 3 เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 414,600 ตัน (ร้อยละ 65) ประเภทอื่น ๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ 223,400 ตัน (ร้อยละ 35) ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 83,600 ตัน (ร้อยละ 13)

อย่างที่สอง ซึ่งพบจากกองขยะในบ้าน คือ “ขยะพลาสติก” ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งที่แทบจะไม่รับ “ถุงหูหิ้ว” จากร้านค้าต่าง ๆ แต่กลับพบว่า ในสินค้า 1 ชิ้น โดยเฉพาะบรรดาอาหารต่าง ๆ จะมีความซับซ้อนของแพ็กเกจจิ้งที่ทำให้เต็มไปด้วย “พลาสติก” เช่น บางร้านภายนอกเป็นกล่องกระดาษ แต่เปิดกล่องมาจะพบอาหารที่วางบนถาดพลาสติก และห่อด้วยพลาสติกอีกชั้น ซึ่งขยะพลาสติกพวกนี้แตกต่างจาก “ขวด-แก้ว” พลาสติก เพราะต่อให้แยกขยะอย่างไร ร้านรับซื้อขยะรีไซเคิลต่าง ๆ ก็ “ไม่รับซื้อ” และทิ้งมันสู่ “ขยะรวม” 

โดยในรายงานปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในปี 2561 พบ “พลาสติก” ในขยะชุมชน ประมาณ 2 ล้านตัน มีแค่ 500,000 ตัน ที่เข้าสู่ระบบรีไซเคิล โดยส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก จะมีอีก 1.5 ล้านตัน ที่กลายเป็น “ขยะพลาสติก” ซึ่งประกอบด้วย ถุงพลาสติก ประมาณ 1.2 ล้านตัน ที่เหลือเป็นพลาสติกอื่น ๆ เช่น แก้ว กล่อง ถาด ขวด ฝาจุก

ที่สำคัญ ยังมีขยะอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการกำจัดที่ถูกต้อง และ “ไปไกล” จากถิ่นต้นกำเนิดได้มากกว่าที่คาดคิด อย่างกิจกรรมจัดเก็บขยะในพื้นที่ชายหาดและป่าชายเลน 24 จังหวัด ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้ระบุตัวเลขไว้พบว่า เก็บขยะได้ถึง 33 ตัน ที่พบมากที่สุด คือ “ถุงพลาสติก” (ร้อยละ 18.9) ขวดเครื่องดื่มพลาสติก (ร้อยละ 8.6) ถุงก๊อบแก๊บ (ร้อยละ 8.4) ถ้วย/จานโฟม (ร้อยละ 6.9) ขวดเครื่องดื่มแก้ว (ร้อยละ 6.6) ห่อ/ถุงอาหาร (ทอฟฟี่ มันฝรั่งอบกรอบ อื่น ๆ) (ร้อยละ 6.1) หลอด/ที่คนเครื่องดื่ม (ร้อยละ 4.6) เศษโฟม (ร้อยละ 4.4) กล่องอาหาร (โฟม) (ร้อยละ 3.8) และแก้วพลาสติก (ร้อยละ 3.6)

แล้วเมื่อย้อนกลับไปดูที่ “งบประมาณ” การจัดการสิ่งแวดล้อมของไทยพบว่า ในปี 2561 งบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศอยู่ที่ 2,900,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่ใช้ในการบริหารจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมของประเทศ 4,356 ล้านบาท คิดเป็นแค่ ร้อยละ 0.15 ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งเมื่อแยกลงไปอีกจะพบว่า มีแค่ 2,411 ล้านบาท ที่เป็นงบประมาณในการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม

จากตัวเลขทั้งบนบกและในน้ำ รวมถึงบัญชีงบประมาณ จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัญหาขยะจากมนุษย์จะลุกลามไปอยู่ในท้องของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ สารพัดสายพันธุ์

เพราะทั้งในแง่ของการจัดการ “ภาครัฐ” ที่ไม่สัมพันธ์กับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ในแง่ของประชาชน “ที่พยายามสุด ๆ” ในการบริหารจัดการขยะให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด ลงทุนลงแรงแยกขยะแค่ไหน สุดท้ายก็ถูกโยนทิ้งใน “ถังขยะรวม”


เมื่อใดหนอ “ขยะ” ถึงจะเป็นเรื่อง “ไม่ขยะ” ที่ทุกฝ่าย “จริงจัง” กันเสียที