บทบรรณาธิการ
แม้ ครม. “ประยุทธ์ 2” เข้ารับไม้ต่อจากรัฐบาล คสช. ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่การปฏิบัติหน้าที่เป็นทางการจะเริ่มหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 25-26 ก.ค.นี้ ตลอด 2 วัน จึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะได้ทราบนโยบายทิศทางในการบริหารประเทศช่วงจากนี้ไป
ว่ารัฐบาลใหม่จะใช้แนวทางหรือวิธีการใดในการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การต่างประเทศ มีแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือกรณีฉุกเฉิน เร่งด่วนอย่างไร
ไม่แปลกที่นโยบายหลัก 12 ด้าน กับนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง ซึ่งถูกบรรจุไว้ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะแถลงต่อรัฐสภา จะได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป ตลอดจนภาคธุรกิจ นักลงทุนจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งด้านบวกและลบ
ที่หลายฝ่ายจับตามองคือ นโยบายด้านเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง ที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภูมิใจไทย (ภท.) ชูเป็นจุดขายหลักในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายเพิ่มรายได้ ลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับคนในระดับกลาง ระดับล่าง
อาทิ นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400-425 บาท/วัน การลดภาษีรายได้บุคคลธรรมดาทุกระดับขั้นร้อยละ 10, ยกเว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ช่วง 2 ปีแรกที่เริ่มประกอบธุรกิจ, ยกเว้นภาษีผู้จบการศึกษาใหม่ที่เริ่มทำงาน 5 ปีแรก, นโยบายประกันราคาแก้ปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ, ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสาย ฯลฯ
หลายนโยบายแม้ชื่อที่ใช้เรียกขานจะแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นประชารัฐ รัฐสวัสดิการ สวัสดิการแห่งรัฐ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อพิจารณาโดยเนื้อหา รูปแบบอย่างถ่องแท้ ส่วนใหญ่ค่อนข้างก้ำกึ่งไปในทางประชานิยม ผลพวงจากพรรคการเมืองแต่ละพรรคเกทับปลัฟแหลกคู่แข่งหวังช่วงชิงคะแนนเสียง
แม้รู้ดีว่าการผลักดันแต่ละนโยบายไปสู่การปฏิบัติต้องอัดฉีดเงินงบประมาณมหาศาล แต่เมื่อประกาศเป็นสัญญาประชาคม จึงกดดันให้รัฐบาลบิ๊กตู่ 2 ต้องทำตามคำมั่น เพราะแค่ส่งสัญญาณว่าบางเรื่องอาจไม่ทำจริง สังคมออนไลน์ สื่อโซเชียลก็รุมกระหน่ำแทบตั้งตัวไม่ติด
พิจารณาเนื้อหาสาระนโยบายหลัก 12 ด้าน กับนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง อาจไม่ระบุชัดถึงรายละเอียดมาตรการ โครงการอย่างเป็นรูปธรรมว่าจะทำตามคำมั่นที่เคยให้ไว้อย่างไร เมื่อใด แต่ที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญคือ ทุกสัญญาประชาคมจะถูกบันทึก เพื่อรอการพิสูจน์ฝีมือหรือผลงาน ว่าพรรคการเมือง นักการเมืองที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศจะทำจริง แปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริงได้มากน้อยแค่ไหน
คลิกอ่านเพิ่มเติม… 7 นโยบาย “ทำทันที” บีบหัวใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1