7 นโยบาย “ทำทันที” บีบหัวใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1

ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 สมัยที่ 2 แถลงนโยบาย “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2” ต่อรัฐสภา ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 นโยบาย “บีบหัวใจ” ที่ได้ขายฝัน-เกทับไว้โดยพรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค เป็น “สัญญาประชาคม” ต้อง “ทำทันที” ในช่วง 1 ปีแรก โฟกัสแก้ปัญหาปากท้อง-ลดความเหลื่อมล้ำ

 

3 นโยบาย พลังประชารัฐ “ทำทันที”

“อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุว่า นโยบายของพรรคที่คิดว่าจะสามารถ “ทำได้ทันที” 3 นโยบาย ได้แก่ 1.นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นโยบายนี้ขึ้นกับกระทรวงการคลัง 2.นโยบายพักหนี้เกษตรกร และ 3.นโยบายมารดาประชารัฐ ถือเป็นนโยบายหลักของพรรค

“ส่วนนโยบายที่ผมมองว่าจะต้องพูดคุยกันอย่างรอบคอบ คือ นโยบายเรื่องการเกษตร จากเดิมที่พรรคเสนอให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าต้องได้รับเกิน 10,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมมะลิต้องได้เกิน 15,000 บาทต่อตัน และเพิ่มค่าเก็บเกี่ยวจากไร่ละ 1,500 บาท เป็น 2,000 บาท ซึ่งนโยบายนี้เป็นงบฯที่ผูกพันและต้องคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ว่า เห็นด้วยกับแนวทางนี้หรือไม่ หากไม่เห็นด้วยก็ต้องมาประสานหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับได้”

สำหรับนโยบาย “ทำทันที” และ “บีบหัวใจ” รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สมัยที่ 2 ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ได้หาเสียงไว้ ได้แก่ การสานต่อ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือ “บัตรคนจน” จำนวน 14.5 ล้านคน 

“มารดาประชารัฐ” ตั้งครรภ์รับเดือนละ 3,000 บาท รวมสูงสุด 27,000 บาท (9 เดือน) ค่าคลอด 10,000 บาท ค่าดูแลเด็กเดือนละ 2,000 บาท จนครบ 6 ขวบ รวม 144,000 บาท รวมทั้งสิ้น 181,000 บาทต่อเด็ก 1 คน

“เกษตรยั่งยืน” ข้าวเจ้า 12,000 บาทขึ้นไปต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาทขึ้นไปต่อตัน อ้อย 1,000 บาทขึ้นไปต่อตัน ยางพารา 65 บาทขึ้นไปต่อกิโลกรัม

“ค่าแรงขั้นต่ำ” 400-425 บาทต่อวัน อาชีวะ 18,000 บาทต่อเดือน ปริญญาตรี 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งในที่สุด “ตกผลึก” ที่ตัวเลข 400 บาท

แม้ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง จะตีกรรเชียงเรื่อง “ค่าแรง” ว่าอาจจะไม่ใช่นโยบาย “ทำทันที” เพราะ “การปรับขึ้นค่าแรงนั้นจะต้องทำควบคู่กับการปรับยกระดับทักษะฝีมือขีดความสามารถของผู้ประกอบการ แยกแยะเป็นแต่ละระดับ ไม่สามารถทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งก่อนอีกเรื่องหนึ่งได้”

แต่เดินหน้าแพ็กเกจ “ลดภาษี” มนุษย์เงินเดือน-ค้าขายออนไลน์-นักศึกษาจบใหม่ อาทิ นโยบายลดภาษีบุคคลธรรมดาทุกระดับขั้น ร้อยละ 10 การยกเว้นภาษีในช่วง 2 ปีแรกที่เริ่มประกอบกิจการสำหรับพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ และการยกเว้นภาษี 5 ปีแรก นับจากวันเริ่มทำงานของผู้เพิ่งจบการศึกษาใหม่

ประชาธิปัตย์-บัตรเงินสดกดทันที 800 บาท

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่กุมบังเหียน 3 กระทรวงเศรษฐกิจ-สังคมหลัก คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แก่

นโยบายบัตรคนจน “Version ประชาธิปัตย์” ได้รับเงินสด-โอนเข้าบัญชี รายละ 800 บาทต่อเดือน 68,794 ล้านบาทต่อปี “เบี้ยคนพิการ” 1,000 บาทต่อเดือน 2 ล้านราย 5,000 ล้านบาทต่อปี

“เกิดปั๊บรับสิทธิเงินแสน” วงเงิน 17,832 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วย ค่าคลอด 5,000 บาท ค่าเลี้ยงดู 1,000 บาทต่อเดือน จนถึง 8 ขวบ เมื่อโครงการดำเนินไปครบ 8 ปี จะต้องใช้เงินเพิ่ม 59,000 ล้านบาทต่อปี

“ประกันรายได้พืชผลเกษตร” ข้าวต้องไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเกวียน ปาล์ม 4 บาทต่อกิโลกรัม ยางพาราไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม วงเงิน 100,000 ล้านบาทต่อปี

หากพืชเกษตรตามโครงการประกันรายได้มีราคาตกต่ำที่สุดพร้อมกันในรอบปี รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณ 350,000 ล้านบาทต่อปี

“ประกันรายได้แรงงานขั้นต่ำ” ไม่ต่ำกว่า 120,000 บาทต่อปี วงเงิน 50,000 ล้านบาทต่อปี แต่ “วิธีการ” แตกต่างจากพลังประชารัฐ

โดยประชาธิปัตย์จะนำ “โมเดลประกันราคา” มาใช้เพื่ออุดหนุน (subsidy) “ส่วนเกิน” จากบริษัท-ห้างร้านเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับภาคเอกชน ขณะที่พลังประชารัฐจะใช้วิธี “ยกระดับทักษะแรงงาน” ให้เป็น “แรงงานขั้นสูง”

“เบี้ยยังชีพคนชรา” 1,000 บาทต่อเดือน 37,302 ล้านบาทต่อปี โดยจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 4.8% หรือ 393,600 คน ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม ประมาณปีละ 4,700 ล้านบาท

“เรียนฟรีถึง ปวส.” วงเงิน 23,852 ล้านบาทต่อปี “อาหารเช้า-กลางวันถึง ม.3” วงเงิน 28,441 ล้านบาทต่อปี “เรียนสองภาษา” (English for All) วงเงิน 5,500 ล้านบาทต่อปี รวมถึง “ภาษาที่สาม” หรือภาษา “coding”

“ศูนย์เด็กเล็ก” วงเงิน 4,555 ล้านบาทต่อปี เพิ่มค่าตอบแทน อสม.-อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 739 ล้านบาทต่อปี “กองทุนน้ำชุมชน” 30,000 ล้านบาทต่อปี  และ “บ้านหลังแรก” 20,000 ล้านบาทต่อปี

“กัญชาเสรี”-แก้หนี้ กยศ. 5 แสนล้าน 

ด้านพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ออกตัวรุก-ล้ำหน้าด้วยนโยบาย “กัญชาเสรี” และ “แก้หนี้ กยศ.” กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา มูลหนี้กว่า 5 แสนล้านบาท

โดยการ 1.ปลดภาระผู้ค้ำประกัน ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันอีกต่อไป 2.ไม่มีดอกเบี้ย 3.ไม่ต้องมีเบี้ยปรับ 4.ใช้ภาษีเงินได้ประจำปีมาหักลดยอดหนี้เงินกู้ได้ 5.ผ่อนคืนเงินต้น 10 ปี และ 6.พักหนี้ 5 ปี

สร้างระบบแบ่งปันผลกำไรการเกษตร profit sharing หรือ “กำไรแบ่งปัน” เช่น ข้าว 70% : 15% : 15% ชาวนาได้เงิน 70% ข้าวขาว 7,900+800 = 8,700 หอมมะลิ 18,000+1,500 = 19,500 ราคาข้าวปี 2561+ส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนข้าว ปาล์มทะลายกิโลกรัมละ 5 บาท รวมถึงยกระดับ อสม.เป็นหมอประจำบ้านได้ค่าตอบแทน 2,500-10,000 บาท

สำรองเงินอัดฉีดเศรษฐกิจแสนล้าน 

นายอุตตม “รมว.คลังคนใหม่” เตรียมออกแพ็กเกจ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ระยะสั้น วงเงินราว 100,000 ล้านบาท เพื่อ “อัดฉีดเศรษฐกิจ” หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 เข้าประจำการ-ปฏิบัติหน้าที่ทันที

“ผมเชื่อว่ารัฐบาลมีความพร้อมที่จะดำเนินการโดยมีชุดมาตรการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าไปได้”

“เราเชื่อว่าถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากภายนอก ก็จะต้องมีมาตรการที่จะช่วยผ่อนแรงกระทบ ส่วนมาตรการจะต้องตอบโจทย์แก้ไขปัญหาได้ตรงเป้า เล็งเห็นผลได้ไม่ใช่การทำแบบฉาบฉวย งบประมาณไม่เกิดผลกระทบ” รมว.คลังระบุ

ขณะที่ “กรณ์ จาติกวณิช” อดีต รมว.คลัง ใน “รัฐบาลอภิสิทธิ์” ในฐานะผู้คิด-ค้นนโยบายเศรษฐกิจให้กับประชาธิปัตย์ ได้ระบุที่มา-ที่ไปของ “แหล่งเงิน” จาก “เงินสำรอง” ตามช่องทาง “พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ” ได้สูงถึง 6.9 แสนล้านบาท

สารพัดคดีค่าโง่ เผือกร้อนรัฐบาล 

อีกทั้ง “รัฐบาลชุดใหม่” ยังต้องแบกรับภาระ-สะสาง “คดีค่าโง่” จากข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับรัฐบาลที่ผ่านมาในอดีต แต่มาประดังประเดในช่วงรอยต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1 กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 อาทิ

คดี “ค่าโง่ทางด่วน” กรณีการต่อสัญญาสัมปทานให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ระยะเวลา 30 ปี เพื่อชดใช้ความเสียหายเป็นตัวเงิน 4.3 พันล้านบาทของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

คดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชดใช้ค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำนวนเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี