เปิดเสรี “อียู-เวียดนาม” โอกาสความท้าทายของเวียดนาม

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย พิมฉัตร เอกฉันท์ สายงาน Global Business Development and Strategy ธ.กรุงไทย

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างออกไปเป็น “tech war” กดดันปริมาณการค้าและการลงทุนโลกให้ชะลอลง รวมถึงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยก็มีสัญญาณซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้การส่งออกไทย 5 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวถึง -2.7% YOY ส่งผลให้ยอดส่งออกทั้งปีอาจเติบโตได้เพียง 0.8% ซึ่งน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้มาก นอกจากนี้ สิ่งที่น่าจับตามอง อีกอย่างหนึ่ง คือ ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม หรือ EU-Vietnam Free Trade Area : EVFTA ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปลายปีนี้ ซึ่งเป็นความท้าทายตัวใหม่สำหรับภาคการส่งออกไทย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสอันดีให้ธุรกิจไทยใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิต

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เวียดนามได้ปฏิรูปเศรษฐกิจและนโยบายเปิดประเทศผ่านการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อลดอุปสรรคทางการค้า รวมถึงการเปิดเสรีด้านการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญต่าง ๆ กว่า 102 ประเทศทั่วโลก ผ่านมาตรการทางการค้าแบบเท่าเทียมกัน (most-favor nation : MFN) และสิทธิพิเศษทางภาษีต่าง ๆ ทำให้ตัวเลขส่งออกของเวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2552 เป็น 2.8 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2561 หรือขยายตัวกว่า 4 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น

นอกจากนั้นในปี 2555 เวียดนามได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) จากสหภาพยุโรป ซึ่งมีส่วนผลักดันให้มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยุโรปในปีนั้นขยายตัวมากถึง 22.7% แต่ด้วยสิทธิประโยชน์ดังกล่าวกำลังจะสิ้นสุดลงในปี 2566 ทำให้เวียดนามใช้ความพยายามถึง 3 ปี เจรจา EVFTA จนสำเร็จเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งความตกลงนี้ถือเป็นการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนเกือบสมบูรณ์ระหว่างยุโรปและเวียดนาม

จะทำให้ยุโรปลดภาษีนำเข้าจากเวียดนามทันทีหลังข้อตกลงบังคับใช้ 71% ของสินค้านำเข้าจากเวียดนามทั้งหมด ส่วนอีก 29% จะทยอยลดภาษีภายใน 7 ปี ขณะที่เวียดนามก็จะลดภาษีนำเข้าจากยุโรปทันที 65% ของสินค้านำเข้าจากยุโรปทั้งหมด และอีก 35% จะทยอยลดภาษีภายใน 10 ปี ซึ่งคาดว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกของเวียดนามในตลาดยุโรปขยายตัวได้มากยิ่งขึ้น

ด้วยยุโรปถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 4 ของไทย มีมูลค่าการส่งออกในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันกับที่ไทยก็ส่งออกไปเวียดนามถึงปีละกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ดังนั้น การมี EVFTA จึงสร้างแรงกระเพื่อมมายังภาคส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้เขียนมองว่าข้อตกลง EVFTA อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในสินค้าหลายประเภท ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มแรก คือ สินค้าที่ไทยเป็นคู่แข่งกับเวียดนามในตลาดยุโรป ได้แก่ เครื่องแต่งกายและรองเท้า เวียดนามได้เปรียบด้านภาษีจากสิทธิประโยชน์ GSP ประกอบกับต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่าไทยถึง 3 เท่า (ในปี 2555 ไทยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ส่วนค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนามเฉลี่ยอยู่ที่ 88 บาทต่อวัน) ทำให้ผู้ประกอบการไทยส่วนหนึ่งย้ายไปตั้งโรงงานผลิตในเวียดนามมากขึ้น ดันให้มูลค่าส่งออกเครื่องแต่งกายและรองเท้าไปยุโรปของเวียดนามในปี 2561 สูงถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ครองส่วนแบ่งตลาดในยุโรปเป็นอันดับ 2 รองจากจีน ขณะที่ไทยอยู่ที่เพียง 845 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูลจาก Trade Map) ซึ่งในระยะข้างหน้า คาดว่าการส่งออกของไทยในกลุ่มนี้จะยิ่งมีแนวโน้มลดลง

และ อีกประเภทหนึ่ง คือ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ โดยสินค้าส่งออกทั้ง 3 อันดับแรกของไทยเป็นสินค้าทุนและสินค้าคงทนที่มีมูลค่าสูง ซึ่งคิดเป็น 53.3% ของมูลค่าส่งออกของไทยไปยุโรปทั้งหมด หรือกว่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ถูกคิดภาษีนำเข้าในตลาดยุโรปสูงสุดถึง 30% ทำให้ราคาสินค้าปลายทางสำหรับผู้ซื้อในตลาดยุโรปมีราคาแพง ขณะที่สินค้าในหมวดเดียวกันที่นำเข้าจากเวียดนามกลับมีแนวโน้มถูกกว่า เนื่องจากยุโรปจะทยอยลดภาษีในสินค้านำเข้าจากเวียดนามตามข้อตกลง EVFTA ซึ่งจะทำให้ไทยยากที่จะแข่งขันและยิ่งเสียเปรียบเวียดนามมากกว่าเดิม

อีกกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบ คือ สินค้าที่ไทยเป็นคู่แข่งกับยุโรปในตลาดเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าขั้นปลาย หรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูป โดยสินค้าที่เวียดนามนำเข้าจากยุโรปส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลางและขั้นปลายที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ เครื่องจักรและส่วนประกอบ เครื่องบิน และผลิตภัณฑ์ยา ขณะเดียวกันกับที่เวียดนามก็นำเข้าจากไทยในสินค้าขั้นปลายเพิ่มขึ้นถึงเกือบเท่าตัวภายในเวลาเพียง 5 ปี หรือจาก 1.3 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2557 เป็น 2.6 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2561 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20.5% ของสินค้าส่งออกไทยไปเวียดนามทั้งหมด

ในประเด็นนี้ EVFTA จะทำให้เวียดนามนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากยุโรปได้ในราคาถูกลง ประกอบกับเงื่อนไข EVFTA ที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตจากยุโรปสามารถเข้าถึงตลาดเวียดนามได้มากขึ้น และสามารถขยายฐานการผลิตสินค้าขั้นปลายในเวียดนามได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การลดการนำเข้าจากไทยได้เช่นกัน

ทั้งนี้ แม้ไทยมีความพยายามเจรจาการค้าเสรีกับยุโรปมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ปี 2558 แต่ด้วยปัญหาการเมืองภายในประเทศทำให้ต้องชะลอการทำข้อตกลงร่วมกับยุโรปไป และคาดว่าการเจรจาครั้งใหม่อาจยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้น ข้อตกลง EVFTA นี้จะเป็นการตอกย้ำให้เวียดนามกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในฐานะ “factory of the world” มากขึ้น

อย่างไรก็ดี EVFTA นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่กำลังมองหาลู่ทางขยายการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแปรรูปการผลิต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยเข้าไปลงทุนโดยตรงสูงสุด โดยกุญแจสำคัญที่ทำให้เวียดนามมีความน่าสนใจกว่าหลายประเทศในแถบอาเซียนด้วยกัน คือ

1) ศักยภาพด้านเศรษฐกิจและการลงทุนอยู่ในระดับสูง โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป (ปี 2562-2567) ของเวียดนาม มีแนวโน้มขยายตัวสูงที่ 6.5% ขณะที่ประเทศในแถบอาเซียนเติบโตเฉลี่ย 5.2% ประกอบกับเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI inflow) ที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามในปี 2018 สูงกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 14.3% โดยเป็นเงินลงทุนโดยตรงจากไทยถึง 6.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 21.1% จากปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลจาก IMF และ UNCTAD)

2) ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเวียดนามได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลครอบคลุมพื้นที่กว่า 5.3 ล้านไร่ และนิคมอุตสาหกรรมรวมกว่า 326 แห่ง ใน 63 จังหวัด ทั้งยังมีแผนจะสร้างอีก 21 เขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเชื่อมระบบโครงสร้างพื้นฐานให้กระจายทั่วภูมิภาคภายในปี 2563 ตลอดจนความร่วมมือจากบริษัทญี่ปุ่นกว่า 20 บริษัท ลงทุนด้านโทรคมนาคมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในเมืองใหม่ทางตอนเหนือของกรุงฮานอย เพื่อให้กลายเป็นสมาร์ททาวน์ในปี 2566

3) การเอื้อสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น การยกเลิกการเก็บภาษีจากผลกําไรที่โอนกลับประเทศ (profit remittance tax) การปรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่างชาติสำหรับธุรกิจทั่วไปในอัตราเดียวกับชาวเวียดนามที่ 25% (flat rate) การยกเว้นภาษีอากรขาเข้าวัสดุ-เครื่องจักรที่ไม่สามารถจัดหาได้ในเวียดนาม ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนเป็นกรณีพิเศษรายพื้นที่ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ (economic zones : EZs) เขตที่เป็นฐานการลงทุนใหม่ (new business development base) เขตอุตสาหกรรมส่งออก (export processing zones : EPZs) และพื้นที่ด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ หรือรายโครงการ เช่น โครงการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม โครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เป็นต้น

สุดท้ายนี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงไม่แน่นอน และกำลังซื้อในประเทศที่อาจไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่เคยเป็นมา การตั้งฐานการผลิตในเวียดนามก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเป็นประตูไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ได้ โดยมีหน่วยงานภาครัฐคอยให้การสนับสนุน เช่น กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือสำนักงานส่งเสริมการค้าประจำกรุงโฮจิมินห์ และกรุงฮานอย