ภัยแล้งอย่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ภาพ:มติชนออนไลน์

บทบรรณาธิการ

 

สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ดูจะหนักหนาสาหัสในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นสถานการณ์แล้งกลางฤดูฝน ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูแล้งอย่างแท้จริงในเดือนเมษายนปี 2563 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

จากการที่ประเทศไทยเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนิโญต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 ส่งผลให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ของประเทศลดลง ยิ่งต้องมาเผชิญกับเหตุการณ์ฝนน้อยน้ำน้อย ทำให้ประเทศไทยหลีกหนีไม่พ้นกับวิกฤตการณ์ภัยแล้งต่อเนื่องยาวนาน

จนปัญหาภัยแล้งได้กลายเป็นปัญหาหลักของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ของที่เกิดขึ้นในเขตชนบทโดยรัฐบาลมักจะมองไม่เห็น แต่ปีนี้ได้เกิดขึ้นในเขตตัวเมืองใหญ่ ๆ ในภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็น อำเภอเมือง จ.สุรินทร์ และ อำเภอเมือง จ.บุรีรัมย์

ส่งผลให้หน่วยงานราชการไม่ว่าจะเป็น กองทัพ-กระทรวงมหาดไทย-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์-กรมชลประทาน -การประปาส่วนภูมิภาค ไปจนกระทั่งถึงตัวนายกรัฐมนตรีเองต้องรีบลงไปดูสถานการณ์ และสั่งการให้มีการแก้ไขโดยด่วนด้วยการขุดเจาะบ่อบาดาลและหาแหล่งน้ำดิบจากเหมืองหิน

อย่างไรก็ตาม วิธีการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งของรัฐบาลตลอด 5 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยมาตรการเร่งด่วนอย่างที่เรียกกันว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้หาน้ำมาให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการทำฝนหลวง-จัดรถบรรทุกน้ำออกแจกจ่าย ไปจนกระทั่งการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นได้แค่เพียงการบรรเทาความเดือดร้อนเพื่อรอจนกว่าฝนจะตก โดยลักษณะของการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจะเป็นแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุก ๆ ฤดูแล้งที่ผ่านมา

ทว่า วิกฤตภัยแล้งกลางฤดูฝนในปีนี้กำลังจะแสดงให้เห็นว่า มาตรการจัดหาน้ำระยะสั้นของรัฐบาลด้วยวิธีการแบบเดิม ๆ นั้น ไม่เพียงพอกับความเดือดร้อนของประชาชนที่จะต้องเผชิญกับฤดูแล้งที่แท้จริงในอีก 8 เดือนข้างหน้า

การเฝ้ารอคอยให้มีพายุพัดผ่านเข้ามาในประเทศสัก 2-3 ลูกกลายเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงเกินไปที่นำประเทศไปฝากความหวังไว้กับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทั่วโลก ดังนั้น วิธีการที่รัฐบาลควรจะต้องเร่งดำเนินการก็คือ โครงการลงทุนจัดหาน้ำระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการผันน้ำจากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือการผันน้ำจากภาคตะวันตกไปยังภาคตะวันออกผ่านทางภาคกลางและภาคเหนือของประเทศ

แน่นอนว่า โครงการเหล่านี้จะต้องเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วมได้ แต่จำเป็นต้องทำทันทีก่อนที่สถานการณ์ภัยแล้งจะวิกฤตรุนแรงยิ่งกว่านี้ในปีต่อ ๆ ไป