โอกาส-ทางรอดอุตฯฟอกหนัง พลิก “สิ่งเหลือใช้ไร้ค่า” สร้างมูลค่าทาง ศก.

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย สุวัชชัย วงษ์เจริญสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย

สำนักข่าวบลูมเบิร์กตีแผ่รายงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนังในสหรัฐอเมริกาที่กำลังเผชิญความยากลำบาก แม้ว่าผู้บริโภคในสหรัฐนิยมรับประทานเนื้อวัวมากขึ้นและมากที่สุดในรอบ 10 ปี แต่ “หนังวัว” ซึ่งเป็น “ผลพลอยได้” หรือ by product ของการบริโภคอย่างคลั่งไคล้ นี้ กลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ

คำถามคือ เกิดอะไรขึ้น ? คำตอบก็คือ ผู้คนที่เคยนิยมสวมแจ็กเกตหรือรองเท้าหนัง เลือกที่จะซื้อเสื้อผ้าหรือรองเท้าที่ผลิตจากใยสังเคราะห์ ซึ่งมีราคาถูกกว่า ดังนั้น ยิ่งบริโภคเนื้อวัวมากเท่าไหร่ ก็จะมีหนังวัวส่วนเกินมากขึ้นเท่านั้น และราคาหนังสัตว์ก็จะยิ่งดิ่งลงจนถึงขั้นไร้ค่า ต้องนำไปฝังกลบทิ้งไป ขณะที่ผู้ผลิตหนังสัตว์รายเล็กที่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ก็ต้องทยอยออกจากธุรกิจไปเรื่อย ๆ

บลูมเบิร์กระบุด้วยว่า เพียง 5 ปี จากที่หนังสัตว์มีราคาสูง เพราะความแห้งแล้งที่ส่งผลต่อแหล่งอาหารของวัว ทำให้จำนวนวัวลดลง ผลักดันให้หนังวัวมีราคาสูงขึ้น จนทำให้ผู้ออกแบบรองเท้าและเสื้อผ้าต้องหาวัสดุอย่างอื่นมาใช้แทนหนังสัตว์ เมื่อประกอบเข้ากับการที่ชุดกีฬาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น พร้อม ๆ กับการต่อต้านการใช้หนังสัตว์ในเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า นั่นคือคำตอบที่ว่า ทำไมความต้องการหนังสัตว์จึงไม่หวนกลับมา

หนังวัวกองพะเนินที่สะสมอยู่ทั่วสหรัฐอเมริกาคือ สัญญาณแห่งภัยพิบัติต่อธุรกิจหนังสัตว์ จากที่หนังวัวเคยมีมูลค่าถึง 50% ของมูลค่าของผลพลอยได้วัวทั้งหมด กลับลดลงเหลือเพียง 5% ของมูลค่าของผลพลอยได้ทั้งหมด

โดยในบทความนี้อ้างอิงกับความเห็นของโจ บรันแนน ผู้จัดการฝ่ายส่งออกของ Twin City Hide ในมลรัฐมินนิโซตา ที่ระบุว่า “เรากำลังทิ้งผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติลงในถังขยะ”

อย่างไรก็ตาม ความต้องการหนังสัตว์คุณภาพสูงยังคงมีอยู่มาก โดยเป็นหนังสัตว์ประเภทที่ใช้ผลิตกระเป๋าถือราคาแพงหรือโซฟาระดับไฮเอนด์ แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม และสัตว์ส่วนใหญ่ไม่มีหนังสัตว์ที่สมบูรณ์แบบ หรือไม่มีตำหนิเลย โดยเฉพาะสัตว์ที่มีอายุมาก ที่หากินตามทุ่งหญ้าเป็นเวลาหลายปีจะมีผิวคล้ำ ไม่สมบูรณ์

Twin City Hide ต้องหยุดซื้อหนังสัตว์คุณภาพต่ำจากบริษัทเนื้อขนาดเล็ก เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าจะนำมาสร้างผลตอบแทนได้ จะเห็นว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทผลิตลดลง 27% โดยมีสินค้าคงคลังจำนวน 20% ที่ยังทำอะไรไม่ได้

“ไม่มีใครเสนอราคา และไม่มีใครพยายามซื้อหนังสัตว์เหล่านี้” มร.บรันแนน ผู้ซึ่งทำงานในธุรกิจหนังวัวตั้งแต่ปี 1976 กล่าว ขณะที่ Hidenet บริษัทวิจัยตลาดเครื่องหนัง ระบุว่า หนังวัวที่มีตำหนิมีราคาเพียง 4 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2019 ลดลงจาก 81 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อ 5 ปีก่อน โดย Vera Dordick ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดพิมพ์ของ Hidenet กล่าวเสริมว่า ไม่ใช่เพียงอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาที่ต้องทนทุกข์ทรมาน แต่ “มันเป็นวิกฤตทั่วโลก”

“วิกฤตอุตสาหกรรมฟอกหนัง” ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของรสนิยม และการตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้อุตสาหกรรมหนังฟอกที่เก่าแก่กว่าอายุของประเทศกำลังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แล้วทางออกของตสาหกรรมฟอกหนังของไทย ซึ่งได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน จากบทความของบลูมเบิร์กคืออะไร

ประเด็นคือ เราควรหันกลับมาใช้หนังสัตว์ให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าจะทิ้งไป โดยผู้ผลิตสินค้าควรคำนึงถึงการใช้วัตถุดิบทดแทน ซึ่งจะสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอีกแบบหนึ่ง แทนการใช้หนังสัตว์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

ขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฟอกหนังต้องพยายามปรับเปลี่ยนหรือวิจัยและพัฒนาให้มีสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการย่อยสลายของโพลียูรีเทน (พียู), พีวีซี (PVC) และใยผ้าสังเคราะห์ที่ใช้มากขึ้นในสินค้าที่หลากหลาย แล้วอาจจะทำอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าการใช้หนังซึ่งเป็นซากสัตว์

ขณะเดียวกัน ภาครัฐสามารถช่วยส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการของเสียที่เกิดขึ้น ให้ใช้อย่างมีคุณค่าและไม่ควรมองว่าธุรกิจหนังสัตว์เป็นธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในทางกลับกันควรมองให้เป็นการส่งเสริมบริหารจัดการอย่างเป็นระบบในการใช้วัตถุดิบในประเทศให้คุ้มค่า เพราะหนังสัตว์เริ่มต้นจากของไม่มีราคา แต่เมื่อแปรรูปแล้วจะมีคุณค่าในตัวเอง

ดังนั้น รัฐจึงควรส่งเสริมให้นักออกแบบหรือผู้ผลิตสินค้าหันกลับมาใช้หนังสัตว์เพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง แทนที่จะใช้พียูหรือพีวีซีทดแทนแล้วเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคตเพิ่มมากขึ้น

เพราะธุรกิจฟอกหนังเป็นอุตสาหกรรมเก่าแก่ ที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับหนังดิบที่เป็น “ส่วนที่เหลือ” หรือเป็น “ผลพลอยได้” จากการขายเนื้อ มาทำให้มีคุณภาพ มีความล้ำค่า มีคุณค่า และทำให้เกิดระบบ supplier chances ในการกำจัดของเสีย


แต่ในท้ายที่สุดแล้ว อุตสาหกรรมจะอยู่ได้ก็ต้องพึ่งพาแรงสนับสนุนจากผู้บริโภคที่หันกลับมาใช้สินค้าที่มีส่วนประกอบของ “หนังสัตว์” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความสมดุลของ “สิ่งเหลือใช้” และถูกทิ้งให้ไร้ค่า จากการบริโภคให้กลับมาสร้างคุณค่าและมูลค่าในระบบเศรษฐกิจ