มวย-ร้องเพลง-ช็อปปิ้ง 5 ปีทีวีดิจิทัล

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สร้อย ประชาชาติ

เผลอแป๊บ ๆ ก็ผ่านไปจะ 6 ปีแล้ว กับการแข่งกันเคาะราคาประมูลช่องทีวีดิจิทัล กันรัว ๆ จนราคาพุ่งจาก 15,190 ล้านบาท (รวม 24 ช่อง) ไปจบที่ 50,862 ล้านบาท

ณ วันนั้นทุกช่องก็ฝันจะโกยรายได้จากธุรกิจนี้เหมือนที่ “ช่อง 3 กับช่อง 7” ทำได้ในยุคทีวีแอนะล็อก

แต่ข้อมูลจากหนังสือ “5 ปี บนเส้นทางทีวีดิจิทัล” สำนักงาน กสทช. ได้ชี้ชัด ๆ ว่า ช่องที่ท็อปฟอร์ม 3 อันดับแรก คือ “ช่อง 7HD” 12,719 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้รวมรายได้จากทีวีแอนะล็อกที่ออกอากาศคู่ขนานไปด้วย “Workpoint” 10,071 ล้านบาท และช่อง “3HD” 7,634 ล้านบาท เกาะกลุ่มทิ้งห่างช่องอื่น ๆ หลายพันล้านบาท

และมี 7 ช่องที่ยกธงขาวขอยอมแพ้ ที่ปิดฉากอำลากันไปแล้วก็คือ สปริงนิวส์ 19, สปริง 26 (NOW 26), ไบรท์ทีวี ส่วนวอยซ์ทีวี, MCOT Family, ช่อง 3 Family และ 3 SD ก็จะตามไปติด ๆ

โดย “MCOT Family” ทีวีดิจิทัลช่อง 14 เป็นช่องที่มีรายได้ตลอด 5 ปีที่ออกอากาศน้อยที่สุด รวมแล้วอยู่ที่ 157 ล้านบาทเท่านั้น โดยในปี 2557 มีเรตติ้งต่ำสุดที่ 0.006 และแม้จะได้ปรับรูปแบบในปี 2560 ให้เป็นช่องทางขายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน จากกลุ่ม SMEs เพื่อสร้างโอกาสหารายได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีทั้งเรตติ้งและรายได้น้อยอยู่ดี โดยเรตติ้งดีที่สุดที่เคยทำได้คือ 0.029 ในปี 2561 ขณะที่ ณ วันประมูลช่องได้เคาะเสนอราคาไปถึง 660 ล้านบาท

ขณะที่ช่อง “วอยซ์ 21” แม้จะมีจุดยืนที่ชัดเจนในการนำเสนอข่าวการเมืองและรายการ Talk เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง ซึ่งมีส่วนทำให้เรตติ้งดีขึ้นในช่วงการเมืองเข้มข้น แต่ 5 ปีทำรายได้รวม 384 ล้านบาท
เรตติ้งดีที่สุด 0.031 ในปี 2561 และต่ำสุด 0.004 ปี 2557 แตกต่างกับวันประมูลที่เคาะราคาไว้ 1,338 ล้านบาท

ส่วน “3 Family” ช่วงแรกเน้นซื้อรายการลิขสิทธิ์มาออกอากาศ ทั้งซีรีส์ต่างประเทศ การ์ตูนเด็ก และละครรีรันช่อง 3 ก่อนจะเริ่มใช้การแข่งขันกีฬาถ่ายทอดสด แต่ 5 ปีก็ทำรายได้รวมที่ 636 ล้านบาท ยังไม่ถึงที่เคาะราคาประมูลไว้ 666 ล้านบาท เรตติ้งดีที่สุด 0.083 ในปี 2558 และต่ำสุด 0.012 ปี 2557

ฟากหน้าใหม่ในวงการอย่าง “ไบรท์ทีวี” ช่อง 20 แม้จะมีซีรีส์อินเดียที่สร้างกระแสฮิตได้ แต่ 5 ปีมีรายได้ 798 ล้านบาท ยังห่างจากราคาประมูล 1,298 ล้านบาท โดยเรตติ้งดีที่สุดที่เคยทำได้คือ 0.035 ในปี 2561

ช่องสปริงนิวส์ 19 ที่ได้ “ทีวี ไดเร็ค” มาเช่าเวลาทำรายการ TV Shopping ถึง 18 ชั่วโมงเพื่อขายสินค้า แต่ 5 ปีก็มีรายได้ 919 ล้านบาท จากที่ประมูลช่องไปด้วยราคา 1,318 ล้านบาท เรตติ้งดีที่สุดคือ 0.049 ในปี 2559

ขณะที่ช่องในเครือเดียวกันอย่าง “สปริง 26” รายได้ 5 ปี 1,188 ล้านบาท เรตติ้งดีที่สุด 0.175 ในปี 2561 โดยได้อานิสงส์จากการปรับผังให้มี “มวย” ในผังรายการทุกวัน

ส่วนช่อง “3 SD” หมายเลข 28 ถือว่าเป็นช่องที่สร้างเซอร์ไพรส์มากที่สุดที่ยอมยกธงขาวคืนช่อง เหตุเพราะ 5 ปีทำรายได้ 1,930 ล้านบาท แม้จะห่างจากราคาประมูล 2,275 ล้านบาท แต่ “ละครรีรัน” ทำให้เป็นช่องที่มีเรตติ้งอยู่ในกลุ่ม top 10 มาตลอด โดยเรตติ้งดีที่สุดคือ 0.279 ในปี 2560

หลังจากนี้อีก 15 ช่องที่ยังออกอากาศต่อ ก็ได้อานิสงส์จากคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 ที่ให้ “กสทช.” ช่วยจ่ายค่าเช่าโครงข่ายสำหรับออกอากาศตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลือ และยกเงินประมูลช่องที่เหลือให้อีกด้วย ก็หวังว่า แต่ละช่องจะเดินตามเจตนารมณ์ของคำสั่ง คสช. ที่ต้องการให้ผู้ประกอบการทุ่มเทกับการลงทุนด้านคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชม


ไม่ใช่ว่า ได้รับอุดหนุนจากรัฐมากมายแต่สุดท้าย กดรีโมตทีวีไปก็เจอแต่ถ่ายทอดชกมวย ประกวดร้องเพลง รายการโฮมช็อปปิ้ง วนไปทั้งวันทั้งคืนเหมือนที่เป็นมาตลอด 5 ปี ซึ่งถ้าหากยังเป็นแบบนี้ต่อให้ดูฟรี ก็กดปิดดีกว่า ประหยัดไฟกว่ากันเยอะ