ลุงติ๊กสเกล ชีวิตที่ “เริ่มต้น” ใหม่

คอลัม์ นอกรอบ

โดย รณดล นุ่มนนท์

 

ผมไม่เคยคาดคิดว่า การทำแบบโมเดลจิ๋วหรือแบบจำลองเหตุการณ์สามมิติ (diorama) จะเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้ แต่ที่แปลกใจที่สุดคือ หนึ่งในศิลปินโมเดลจิ๋วคือ อดีตพนักงานรักษาความปลอดภัยของแบงก์ชาติ ที่มีข่าวลงในสื่อและออกรายการโทรทัศน์จนเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว มีนักสะสมมาสั่งให้ทำแบบโมเดลอย่างล้นหลาม จนต้องขอปิดการสั่งจองไปจนถึงต้นปีหน้า ในขณะที่หลักสูตรที่เปิดสอนการทำแบบโมเดลในช่วงวันหยุด มีนักเรียนเข้าคิวเรียนจนถึงสิ้นปีเช่นเดียวกัน

เช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมตามล่าหาความจริงด้วยการไปพบกับ ส.ท.พงศ์กาณฑ์ โกมลกนก (ลุงติ๊ก) อดีตพนักงานรักษาความปลอดภัยของแบงก์ชาติ ตัวจริงเสียงจริงของ “ลุงติ๊กสเกล” ถึงที่บ้านย่านบางใหญ่ สถานที่ทำโมเดลและเปิดหลักสูตรโมเดลจิ๋ว โดยที่ลุงติ๊กยืนรอรับอยู่ที่หน้าบ้านพร้อมเชื้อเชิญให้ไปนั่งคุยกันในห้องทำงานอย่างเป็นกันเอง ซึ่งปกติวันเสาร์-อาทิตย์จะไม่ว่างเพราะเปิดหลักสูตรสอน แต่ในสัปดาห์นี้ อยู่ระหว่างการขยายห้องให้รองรับนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น

ลุงติ๊กเริ่มเล่าด้วยน้ำตาคลอว่า เมื่อได้บรรจุเป็น “พนักงานรักษาความปลอดภัย” ที่แบงก์ชาติ ในปี 2534 ขณะอายุ 34 ปี หลังจากเป็นนายสิบรับราชการมา 9 ปี อนาคตของเขาและครอบครัวก็เริ่มสดใส เพราะการได้ทำงานที่แบงก์ชาติมีความมั่นคงแถมมีสวัสดิการที่ดี แม้ว่าจะต้องโยกย้ายงานจากสำนักงานใหญ่ ไปอยู่ที่ศูนย์จัดการธนบัตร ระยอง จนมาปฏิบัติงานที่สายออกบัตรธนาคาร ลุงติ๊กก็มีความสุขกับงานที่รับผิดชอบ แถมได้ทำงานที่ตัวเองรัก จากพื้นฐานการศึกษาจากวิทยาลัยเพาะช่าง สาขาประติมากรรมสากล ทั้งการจัดทำตราเครื่องแบบ การจัดทำบอร์ดขนาดใหญ่ไว้เพื่อให้ความรู้ทางการเงินกับเด็ก ๆ ไปจนถึงการเป็นจิตอาสาช่วยเหลือผู้เดือดร้อน

จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ทั้ง ๆ ที่ลุงติ๊กว่ายน้ำไม่เป็นอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ลุงติ๊กได้สะสมมาแบบไม่รู้ตัวคือ “หนี้” เริ่มต้นจากการกู้ยืมเงินสวัสดิการและสหกรณ์เพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ และต่อมาก็เป็นการกู้ยืมเพื่อมาซื้อของที่ไม่จำเป็น เช่น เปลี่ยนรถยนต์ไปตามแฟชั่น จนหนี้สินเริ่มเต็มเพดานเงินเดือน และต้องรอจนถึงวันเงินเดือนขึ้นตอนต้นปีเพื่อกู้ยืมเพิ่มเติม

จากเงินเดือนเรือนหมื่นมารับสุทธิเพียงหลักพัน ทำให้ต้องดิ้นรนไปกู้หนี้นอกระบบ และเมื่อมีปัญหาครอบครัวมาสมทบ ยิ่งทำให้ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวจนไม่สามารถปลดหนี้ได้ มีเงินไม่พอใช้จ่ายเลี้ยงดูตนเองและลูก

จนมาถึงจุดที่ลุงติ๊กต้องกล้าเดิมพันชีวิตครั้งใหญ่ด้วยการตัดสินใจ “เกษียณก่อนกำหนด” ภายหลังทำงานมาเกือบ 30 ปีที่แบงก์ชาติในปี 2559 เพื่อนำเงินเก็บสะสมไปเคลียร์หนี้สินทั้งหมด โดยมีเงินเหลือสุทธิเพียง 1,500 บาท และยังไม่รู้ชะตากรรมข้างหน้า

ลุงติ๊กเล่าว่า เมื่อเกษียณใหม่ ๆ คิดไม่ตกว่าจะทำอาชีพเสริมอะไรเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวที่มีกัน 3 ชีวิต คือ ตัวเอง ลูกชาย และลูกสะใภ้ และใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วย การนั่งอยู่บนโซฟาดูโทรทัศน์อยู่หลายเดือนจนโซฟาฝั่งข้างที่นั่งถึงกับยุบตัว จนมาถึงวันหนึ่งตัดสินใจได้ว่า ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้และเผชิญกับความเป็นจริงของชีวิต

ลุงติ๊กได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ตอนลาออกผมไม่กลัวนะ ไปตายเอาดาบหน้า หลายคนบอกว่าหนี้สิน ค่อยเคลียร์ก็ได้ผ่อนเอา แต่ผมอยากให้มันกลายเป็นศูนย์เลย ตัวเองไม่มีสักสลึงก็ไม่เป็นไร ไม่ยอมอดตายอยู่แล้ว ชีวิตเรามันเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ”1/

ลุงติ๊กและลูกชายเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการทำธุรกิจเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงเต่า และเลี้ยงนก แต่ทำไปได้สักพักหนึ่งก็พบว่า ธุรกิจนี้เป็นไปตามกระแสไม่ยั่งยืน พอมานั่งคุยกับลูกชายที่สะสมพวกรถเหล็กและเห็นว่า มีกลุ่มคนสะสมที่จะหาฉากสวย ๆ ไปวางคู่กับรถ และน่าจะทำได้เพราะมีพื้นการเรียนด้านศิลปะ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำแบบโมเดลจิ๋ว “เอาน่ะ ลองดูสักตั้งแล้วกัน” ลุงติ๊กกล่าว

สองพ่อลูกเริ่มต้นด้วยการทดลอง ศึกษา และสอบถามกูรู จนกระทั่งสร้างผลงานชิ้นแรกสำเร็จ เป็นภาพฉากภูเขา โดยประมูลขายได้ในราคา 280 บาท ลุงติ๊กยอมรับว่าตื่นเต้นและดีใจมาก (จนถึงวันนี้ พยายามสืบหาผู้ครอบครองเพื่อจะขอซื้อกลับมาเป็นที่ระลึก) พร้อมพัฒนาฝีมือและสร้างสรรค์ผลงานอีก 4-5 ชิ้น ก่อนได้โอกาสแจ้งเกิดจากโมเดล “อนุสาวรีย์ วงเวียนบางแสน” ซึ่งมีผู้ติดต่อส่งรูปสถานที่ดังกล่าวมาให้จัดทำ โดยสนนราคา 3,000 บาท

โดยที่ลุงติ๊กไม่เคยไปแถววงเวียนบางแสนเลย จึงต้องใช้จินตนาการในการสร้าง พอทำเสร็จก็ไม่แน่ใจว่าลูกค้าจะชอบและเหมือนของจริงหรือไม่ พอลูกชายขับรถไปส่งโมเดลที่บางแสน พร้อมกับถ่ายรูปเปรียบเทียบโมเดลที่ทำกับสถานที่จริง ตนเองถึงกับอึ้งเพราะคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะปลาโลมาที่ตั้งอยู่ที่อนุสาวรีย์ “มันเป็นงานที่ใหญ่มาก สำหรับคนที่เพิ่งเข้าสู่วงการ รู้สึกกดดัน เพราะสิ่งที่กลัวที่สุดในการทำโมเดลคือจินตนาการของลูกค้าไม่ตรงกับจินตนาการของช่าง แต่พอทำออกมา แล้วได้เห็นของจริงก็อึ้ง เพราะมันเหมือนกันมาก ความมั่นใจผมกลับมาเลย ต่อไปนี้ผมไม่กลัวอีกแล้ว”2/

ลุงติ๊กเล่าเสริมว่า โชคดีที่ลูกชายและลูกสะใภ้เรียนจบด้านการตลาด และเต็มใจช่วยทำโมเดล ในส่วนที่สามารถทำได้ เริ่มต้นจากการตั้งชื่อกิจการว่า “ลุงติ๊กสเกล” เพื่อสะท้อนถึงความใกล้ชิดและสร้างความผูกพันกับลูกค้า พร้อม ๆ กับการทำ Facebook ส่วนตัวเพื่อเผยแพร่ผลงาน จากผู้ชมหลักร้อยมาจนปัจจุบันที่มีผู้เข้าชมกว่า 1 ล้านวิว และเมื่อข่าว M Thai News เสนอข่าวและมีบทสัมภาษณ์เป็นฉบับแรก เรื่องราวของ “ลุงติ๊กสเกล” จึงแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน ลุงติ๊กรับงานเข้ามาเยอะมากจนคิวไม่ว่างจนถึงสิ้นปี มีทั้งลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาติ มีผลงานที่ออกมากว่าพันชิ้น รวมถึงมีการจัดหลักสูตรสอนกว่า 15 รุ่น และถูกจองคิวเต็มไปถึงรุ่นที่ 29 แล้ว ลุงติ๊กเป็นนักวางแผน บอกว่า ตอนเริ่มธุรกิจตั้งใจที่จะไม่เปิดตัวแรง เพียงเริ่มต้นด้วยการลงในโซเชียลมีเดีย พร้อมทำธุรกิจไปตามอัตภาพ โดยมีเครื่องมืออุปกรณ์ครบถ้วน (รวมทั้งเครื่องเลเซอร์ตัด board ราคากว่า 3 แสนบาท) และไม่คิดที่จะกู้หนี้ยืมสินมาขยายกิจการ

ทั้งนี้ ลุงติ๊กมีเป้าหมายที่จะเปิดสถานที่จัดแสดงโมเดลเพื่อเผยแพร่ผลงานที่แสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยในอดีตให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ พร้อมมีความใฝ่ฝันที่จะสอนการทำโมเดลจิ๋วให้คนต่างชาติ เพราะเห็นว่าที่ผ่านมา คนไทยมักจะต้องเป็นผู้เรียนรู้จากคนต่างชาติ

ท้ายสุด ลุงติ๊กได้ฝากเป็นข้อคิดว่า “ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาได้สอนให้รู้ว่า เงินที่ได้มาง่าย กลับสร้างหนี้ได้แบบไม่ตั้งตัว เป็นตราบาปของชีวิตที่สร้างความทุกข์ให้กับตัวเราและครอบครัว และหากไม่โชคดี จะเป็นภาระเมื่อถึงเวลาเกษียณ มีเงินไม่เพียงพอที่จะดูแลตนเองและครอบครัวได้

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความฝันต้องไม่มีวันสิ้นสุด จงกลับมาทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ทำจริงได้จริง ทำเล่นได้เล่น”

หมายเหตุ -แหล่งที่มา:1/kaewta P อดีตรปภ.แบงก์ทำ”โมเดลสเกล” สร้างรายได้ครอบครัวเดือนละ 7หมื่น M Thai News 8 ม.ค.2019 https://news.mthai.com/economy-newws/occupation/699380.html 2/พัชรพล องค์สรณะคมกุล อดีตรปภ.แบงก์ชาติเดินตามฝันสู้นักทำโมเดลสเกล มือถมัง สร้างรายได้ 7 หลักต่อเดือน เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มติชน วันอังคารที่ 6 สิงหาคม /2562 https//www.sentangsedtee.com/careerchannel/article_122509