สมาร์ทฟาร์มเมอร์ แนวทางแก้ปัญหาปาล์มอย่างยั่งยืน

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย กิจก้อง ตันติจรัสวโรดม ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้

 

ราคาปาล์มตกต่ำเป็นปัญหาที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มต้องประสบพบเจอ และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด อีกเรื่องก็คือ ปัญหาหนี้สิน ซึ่งเป็นผลกระทบที่ได้รับจากราคาปาล์มที่ไม่มีเสถียรภาพ และยังคงเป็นวัฏจักรวนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยมา

อีกประเด็น คือ เกษตรกรชาวสวนปาล์มขาดความเชื่อมั่นในการจัดการแก้ปัญหาของภาครัฐ เกิดข้อสงสัยในตัวเลขจำนวนสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่ประกาศ เกิดข้อสงสัยในประเด็นการลักลอบนำเข้า ความชัดเจนและโปร่งใสในการกำหนดราคาระหว่างโรงกลั่น โรงหีบ และต้นทาง คือ สวนปาล์ม โจทย์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องจริงใจ สร้างความเข้าใจ เพื่อดึงความเชื่อมั่นกลับคืนมา

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็น smart farmer เพื่อความมั่นคงและยั่งยืน เป็นแนวทางที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มต้องนำไปปรับใช้ คือ

1) smart farmer เกษตรกรชาวสวนปาล์มจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็น smart farmer ต้องเป็นเกษตรกรยุคใหม่ที่รู้จักนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้กับกระบวนการการจัดการพื้นที่เพาะปลูก การจัดการพืชเกษตรของตนเอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ตัวอย่าง เช่น การใช้โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ มาช่วยในการใส่ปุ๋ยทางใบ การวางแผนเวลาการให้น้ำ เป็นต้น

2) ความแม่นยำ เกษตรกรชาวสวนปาล์มต้องรู้ดิน รู้น้ำ รู้อากาศ ความแม่นยำจะช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3) แชร์ข้อมูลเทคโนโลยี สร้างเครือข่ายหมู่บ้านร่วมกัน

วันนี้ ความต้องการน้ำมันปาล์มในตลาดโลกลดลง ยุโรปออกมาตรการกีดกันทางการค้า เพราะมีทางเลือกในพืชพลังงานอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อราคาผลผลิตปาล์มในประเทศ แนวทางที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย คือ

1) การควบคุมพื้นที่ในการเพาะปลูก ภาครัฐควรลดพื้นที่ปลูกสวนปาล์ม

2) รัฐต้องสนับสนุน อุดหนุนและส่งเสริมให้ชาวสวนปาล์มปลูกพืชทางเลือกอื่นทดแทน เช่น ผลไม้ ต้องประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มตัดสินใจเลือกพืชเกษตรชนิดอื่นเพาะปลูกในพื้นที่ของตนเอง

3) ควบคุมราคาต้นทุนการผลิต รัฐจะออกมาตรการประกันราคาผลผลิตอย่างเดียวไม่ได้ ต้องช่วยควบคุมราคาต้นทุนในการผลิตด้วย

4) พักหนี้ให้เกษตรกร และควรพิจารณาดูแลอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ โดยเสนอให้พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยลง 50%

5) รัฐลงทุนสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงไปเป็น smart farmer

6) รัฐควรประกาศนโยบายสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซล B100 ซึ่งสามารถช่วยดึงราคาปาล์มให้สูงขึ้นมาได้

วันนี้ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันตั้งหลักให้เกษตรกรชาวสวนปาล์ม ต้องดูแลเรื่องพักหนี้ให้เกษตรกร รวมถึงลดอัตราดอกเบี้ยลง ส่งเสริม สนับสนุน ลงทุนให้เกษตรกรเป็น smart farmer นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้

เพื่อให้เกิดการพัฒนากระบวนการการผลิตทั้งระบบ ผลลัพธ์ที่ได้ คือ เสถียรภาพ ทั้งด้านโครงสร้าง ด้านราคา และเกิดความยั่งยืน