โรค ASF หมู-คนกินไม่ตาย ผู้เลี้ยงรายย่อยล่มสลาย

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กฤษณา ไพฑูรย์

ท่ามกลางความอึมครึมของข่าว “โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร” (African Swine Fever หรือ ASF) ในพื้นที่เสี่ยงสูงจังหวัดเชียงรายกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา แม้กรมปศุสัตว์ออกมาย้ำทุกวันว่า “ประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของโรค ASF” ที่สำคัญ “ไม่ติดต่อสู่คน สามารถกินหมูได้ตามปกติ”

แต่การที่กรมปศุสัตว์ได้ยกระดับการประกาศเป็น “พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ” ขยายวงกว้างจาก 3 อำเภอ บริเวณที่อยู่ติด “แม่น้ำรวก” คือ แม่สาย, เชียงแสน และเวียงแก่น หลังจากที่ชนกลุ่มน้อยในประเทศเมียนมา พบการระบาดของโรค ASF และมีการทิ้งหมูที่ตายลงในแม่น้ำรวก บริเวณท่าขี้เหล็ก ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สายของไทย ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2562

และล่าสุดได้ขีดแนวกันชน (buffer zone) รัศมี 3-5 กม. เพิ่มอีก 5 อำเภอ คือ อ.แม่ฟ้าหลวง, แม่จัน, เชียงของ, ดอยหลวง และเวียงเชียงรุ้ง

พร้อมสั่ง “กำจัดหมูของผู้เลี้ยงรายย่อย” ในตะเข็บชายแดนที่มีการตายผิดปกติ และที่ยังไม่มีอาการป่วยตาย แต่อยู่ในวงรัศมีไปแล้วกว่า 3,000 ตัว เนื่องจากผู้เลี้ยงรายย่อยตามตะเข็บชายแดนส่วนใหญ่สูบน้ำจากแม่น้ำรวกขึ้นมาให้ใช้ จึงทำให้เกิดความเสี่ยงสูง

ขณะเดียวกัน มีแผนให้เชือดหมูกินกันเองในจังหวัดเชียงราย ที่มีประมาณ 169,216 ตัว จากฟาร์มหมูทั้งหมด 7,600 แห่ง ให้หมดไปโดยเร็ว และห้ามเคลื่อนย้ายหมูไปสู่จังหวัดอื่นอย่างเด็ดขาด

การ “สั่งกำจัด” หมูจากเกษตรกรรายย่อยนั้น “กรมปศุสัตว์” ไม่มีงบประมาณมาจ่ายค่าชดเชยให้ เพราะแหล่งข่าววงในกระซิบว่ากรมปศุสัตว์พยายามชงเรื่องของบประมาณขึ้นไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ปีมะโว้

แต่ “ต้นเรื่อง” ไม่รู้ถูก “ขุดหลุมฝังกลบ” ไว้ตรงไหน ทำให้เรื่องของบฯยังไม่ถูกชงเข้าคณะรัฐมนตรี

ทั้งที่สมัย “กฤษฎา บุญราช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯในรัฐบาลชุดก่อน ได้ชงเรื่องให้ “ครม.มีมติเห็นชอบ” แผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์

แอฟริกันในสุกรของประเทศไทย เป็น “วาระแห่งชาติ” ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2562 เพื่อป้องกันความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท

ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้ว กับคำว่า “วาระแห่งชาติ” ยังถูกลอยเคว้งคว้าง ทั้งที่ควรจะมีการผลักดันตั้ง “คณะกรรมการวาระแห่งชาติ” ขึ้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯขึ้นมานั่งแท่นบัญชาการ สั่งการให้ทุกกระทรวงมาช่วยกัน เพราะลำพังกรมปศุสัตว์หน่วยงานเดียว เอาไม่อยู่แน่ !

ชัดเจนที่สุดตอนนี้ กรมปศุสัตว์ได้โยนภาระอันหนักอึ้งมาให้ผู้เลี้ยงรายใหญ่ ต้องช่วยกัน “ลงขัน” จ่ายเงินให้ผู้เลี้ยงรายย่อย ซึ่งวันนี้กำลังกลายเป็นประเด็น “ไม่ลงรอย” กันในวงการ

สถานการณ์ร้อนระอุที่ จ.เชียงราย ได้สร้างปมร้าวลึก เมื่อเงิน “กองทุน” สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือกว่า 3 ล้านบาท หมดเกลี้ยง และ “สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ” มีเงินกองทุนอยู่น้อยนิด

เพราะ 6 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแต่ละภาคต่างจัดตั้ง “กองทุน” ของตัวเองขึ้นมา เพื่อเตรียมการรับมือไม่ให้โรคเข้ามาในบ้านของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงาม จึงเป็นที่มาให้กรมปศุสัตว์เรียกประชุมสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติด่วน “มีมติ” ให้ดึงเงินเข้ามารวมเป็น “กองกลางกองทุนเดียว” โดยไม่มีการเชิญสมาคมแต่ละภาคมาร่วมประชุม ทำให้หลายภาค “ไม่เห็นด้วย”

“ผู้เลี้ยงแต่ละภาคเข้าใจดีว่า ปัญหาที่ จ.เชียงราย ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ได้ปล่อยให้ผู้เลี้ยงสุกรในภาคเหนือโดดเดี่ยว แต่เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของนายกสมาคม และกรรมการบางส่วนในหลาย ๆ เรื่องที่ทำงานล่าช้า และการใช้เงินกองทุนที่ผ่านมาก็ไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน”

เบื้องต้นเมื่อยังไม่สามารถตกลงกันได้ กรมปศุสัตว์จึงคัดเลือก “แกมบังคับ” ให้ 51 บริษัทใหญ่ที่เลี้ยงสุกรจำนวนมากนำเงินที่บริจาคไป มาไว้ที่ “กองกลาง” เพื่อนำไปใช้ที่ จ.เชียงรายก่อน นำร่องโดย CPF 5 ล้านบาท, เบทาโกร 2 ล้านบาท, ไทยฟู้ด 1.9 ล้านบาท, VPF 660,000 บาท, แหลมทอง 400,000 บาท นอกจากนี้ สมาคมผู้เลี้ยงแต่ละภาคได้ส่งเงินสมทบรวมเข้ามา เบื้องต้นทยอยเข้ามาประมาณ 11 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ความอลหม่านในวงการผู้เลี้ยงสุกร ท่ามกลางฝุ่นตลบที่จังหวัดเชียงราย ไม่ได้ทำให้ “นักการเมือง” ที่เรียกตัวเองว่า เป็น “ตัวแทนของประชาชน” รู้ร้อนรู้หนาว เมื่อ “โรค ASF ไม่ติดคนตาย” แต่หารู้ไม่ว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกำลัง “ล่มสลายตายทั้งเป็น” และไม่มีโอกาสกลับมาเลี้ยงสุกรได้อีกใน 2 ปีข้างหน้า

หลายคนในวงการหมูสะท้อนว่า “ในวิกฤตที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่ช่วยกันลงขันกำจัดโรค แต่ถ้ามองอีกมุม อาจเป็นโอกาสให้ผู้เลี้ยงรายใหญ่ที่อยากกำจัดผู้เลี้ยงรายย่อย 2 แสนรายให้หมดไป…ได้สมใจกันก็ครานี้เอง”…น่าเศร้าใจยิ่งนัก ประเทศไทย !