ยกเครื่องใหญ่บริหารจัดการน้ำท่วม

ภาพ : FB ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
บทบรรณาธิการ

อุทกภัยช่วงหน้าฝนปีนี้สร้างความเสียหายหลายจังหวัด ที่เข้าขั้นวิกฤต คือ อุลราชธานี เนื่องจากประสบภัยทั้ง 25 อำเภอ หนักสุดในรอบ 17 ปี โดย อ.วารินชำราบ กับตัวเมืองอุบลราชธานี กระทบหนัก ขณะที่พื้นที่การเกษตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาข้าว ไร่มันสำปะหลัง เสียหายกว่า 5 แสนไร่

ก่อนหน้านี้ ทุกภูมิภาคทั่วประเทศทั้งเหนือ อีสาน ยันภาคใต้ เพิ่งประสบภัยน้ำท่วม จากอิทธิพลพายุโพดุล และคาจิกิ อาทิ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ร้อยเอ็ด อุดรธานี อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ ฯลฯ ชี้ให้เห็นว่าภัยพิบัติธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น

หากย้อนดูสถิติอุทกภัย ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559-2561 ประเทศไทยเจอน้ำท่วมใหญ่เฉลี่ยปีละ 6 ครั้ง โดยปี 2559 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมี 62 จังหวัด 252 อำเภอ ปี 2560 ประสบภัย 68 จังหวัด 698 อำเภอ ปี 2561 ประสบภัย 66 จังหวัด 420 อำเภอ แต่ละครั้งมูลค่าความเสียหายมหาศาล

สาเหตุหลักนอกจากมาจากปัจจัยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และภาวะโลกร้อนแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาส่วนหนึ่งมาจากน้ำมือมนุษย์ จากการก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำ การพัฒนาเมืองแบบไร้ทิศทาง ไม่มีการวางผังเมืองที่ดี ขณะเดียวกัน การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการภัยพิบัติ ยังขาดประสิทธิภาพ

วิกฤตจึงเกิดซ้ำ ๆ นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินซ้ำซาก แม้ทุกภาคส่วนไม่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาปัญหาภัยธรรมชาติยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นแก้ไขอย่างจริงจังทั้งระบบ

รัฐบาลทุกยุค ทุกสมัย เน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าขณะที่แผนหรือมาตรการในระยะกลาง ระยะยาว แม้หลายพื้นที่จะมีการสำรวจ ศึกษา ทั้งโดยหน่วยงานรัฐ และว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเอกชน แต่ด้วยข้อจำกัดทั้งเรื่องวงเงินงบประมาณ ปัญหาการเวนคืนที่ดิน หรือถูกคัดค้าน ต่อต้าน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ หลายโครงการจึงเป็นแค่แผนในแผ่นกระดาษเกือบ 8 ปีเต็มหลังวิกฤตมหาอุทกภัยช่วงปลายปี 2554 มีโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้อยโครงการที่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งที่เกิดน้ำท่วมรุนแรง และส่งผลกระทบในวงกว้างหลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สายหากจะใช้โอกาสนี้ยกเครื่องใหญ่การป้องกันแก้ไขอุทกภัยตั้งแต่ก่อนเกิดภัยพิบัติ ระหว่างเกิดภัย และหลังภัยพิบัติ เพื่อลดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจทั้งระบบ