นครสวรรค์-สระบุรียุค 5G เอกชนนำธง-รัฐเดินตาม

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย กฤษณา ไพฑูรย์

เรามักได้ยินหลายคนบ่นว่า หลายเมืองของประเทศไทยเติบโตขึ้นมาอย่างไร้ทิศทาง ไม่มีการวางผังเมืองที่ชัดเจน เพราะบางครั้ง “ผังเมือง” ที่มีอยู่สามารถเปลี่ยนสีได้ตามอำนาจ และอิทธิพลในเงาสลัว ๆ แม้จะมีการเปิดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น แต่เหมือนทุกอย่างถูกตั้งธงมาไว้แล้ว จะปรับเปลี่ยนตามที่ชาวบ้านต้องการเพียงเล็กน้อย

การพัฒนาเมืองเป็นไปตามนโยบายจากข้างบนลงไปข้างล่าง ไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง หลายโครงการใช้งบประมาณแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เมื่อเงินหมดกลายเป็น “โครงการร้าง”

เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์ “ฐาปนา บุณยประวิตร” นายกสมาคมการผังเมืองไทย ซึ่งเป็นผู้ที่พยายามผลักดันเรื่องแนวคิด “การเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth)” ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เพื่อหวังควบคุมการเติบโตแบบกระจัดกระจายอย่างไร้ทิศทางของหลายเมืองในประเทศไทย ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายตามมาไม่มีที่สิ้นสุด ให้เมืองเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพสอดรับกับการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ ยกระดับเศรษฐกิจของคนในท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งทางสังคม เพิ่มคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ที่สำคัญ การผลักดันแนวคิดดังกล่าวใช้วิธีการดึงให้ภาคเอกชน ภาคประชาชน หน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในพื้นที่ “ทุกคนต้องมาร่วมกันคิด และลงมือทำร่วมกัน” เพื่อให้เมืองที่ตัวเองอาศัยอยู่ดีขึ้น และเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ ภายใต้คณะกรรมการที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม หรือที่เรียกกันว่า คณะกรรมการกฎบัตร (National Charter)

อาจารย์ฐาปนาเล่าว่า “แนวคิดสมาร์ทโกรว์ท ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมืองใหญ่ในต่างประเทศทำกันมานานแล้ว เช่น นิวยอร์ก จะมี นิวยอร์กซิตี้ชาเตอร์ ให้ทุกคนร่วมกันคิดว่าเศรษฐกิจเมืองในอนาคตอีก 20-30 ปีข้างหน้า อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง และเมืองจำเป็นต้องวางแผน เพื่อให้เดินไปสู่ภาวะที่มีความยั่งยืนได้อย่างไร พอคิดเสร็จต้องลงมือทำ ทำแผนขึ้นมาหนึ่งแผน ทุกคนต้องมาร่วมลงนาม มีความรับผิดชอบร่วมกัน เสนออะไรไปคือทำได้ สิ่งแวดล้อมไม่เสีย ลูกหลานได้ประโยชน์ เศรษฐกิจกระจายตัว โดยในเวทีกฎบัตร เราจะบอกกับทุกคนว่า ถ้ามาเพียงแค่เสนอแนะให้เพื่อนทำ ไม่ต้องมาเพราะเสียเวลา แต่ถ้ามาแล้วเสนอเสร็จแล้วทำด้วย วิธีการแบบนี้ใช้ได้ผลค่อนข้างมาก นี่คือวิธีการของตัวกฎบัตร”

ที่ผ่านมาตั้ง “โครงการวิจัยพัฒนากลไกเชิงพื้นที่ในการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม (SG-ABC)” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มา 17 ล้านบาท ทดลองเดินตามกรอบ Smart Growth ใน 6 เมือง คือ อุดรธานี สระบุรี นครสวรรค์ เชียงใหม่ ป่าตอง และระยอง

ล่าสุดได้เห็นความก้าวหน้าในจังหวัดต่าง ๆ บ้างแล้ว เช่น คณะกรรมการกฎบัตรนครสวรรค์ หนึ่งในจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการวิจัย โดยมีเทศบาลนครนครสวรรค์เป็นแม่งานหลัก ได้จัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาเมืองเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีแผนจะนำ “ท่าข้าวกำนันทรง” ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 350 ไร่ ของกรมธนารักษ์ ซึ่งเคยรุ่งเรืองในอดีต มาปรับปรุงเป็นศูนย์ประชุม และหอศิลปะนานาชาติ เพื่อสร้างเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดนครสวรรค์

โดยในส่วนของหอศิลปะนานาชาติ ทางเทศบาลนครนครสวรรค์จะขอแบ่งพื้นที่ออกมา 39 ไร่ และได้เตรียมงบประมาณ 25 ล้านบาท ลงทุนดำเนินการเอง ส่วนพื้นที่ที่เหลือ 311 ไร่ มีแผนเตรียมเปิดสัมปทานให้เอกชนมาลงทุนระยะเวลา 30 ปี ก่อสร้างเป็นศูนย์ประชุม ที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย การท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจด้านอาหาร โดยจุดประสงค์เพื่อหวังให้นครสวรรค์เป็นศูนย์เศรษฐกิจใจกลางภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนขึ้น เพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจและยกระดับธุรกิจท้องถิ่น และสังคมของจังหวัด

ขณะที่ คณะกรรมการกฎบัตรสระบุรี ได้มีแนวคิดจะพัฒนายุทธศาสตร์ของจังหวัดสระบุรีให้เป็นเมืองศูนย์กลางนวัตกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์นม และเมืองไมซ์อัจฉริยะ เศรษฐกิจสีเขียวในจังหวัดขึ้น โดยจะขอใช้พื้นที่ 60 ไร่ ของศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 4,711 ไร่ เพื่อนำมาทำ Innovation Center เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากผลผลิตทางการเกษตร โดยใช้นวัตกรรมที่ทันสมัย และเทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้งห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ที่เกิดขึ้นในกระบวนการสามารถไปใช้พื้นที่บริเวณศูนย์แห่งนี้เพื่อเรียนรู้และต่อยอดผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยจะมีนักวิจัยระดับประเทศ ระดับโลกที่มีคุณวุฒิ มีความเชี่ยวชาญ มีองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้ โดยการจับมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอันเก่าแก่ที่มีองค์ความรู้ทุกด้านจะเข้ามาสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม รูปธรรมที่เริ่มปรากฏชัดจากการมีส่วนร่วมกันคิด ร่วมกันทำของทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมถึงการลงขันของภาคเอกชนในบางจังหวัด เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมา โดยไม่รอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ทำให้เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในการพัฒนาเมืองในหลายจังหวัดของประเทศไทยที่น่าชื่นชมอย่างแท้จริง