ภูมิคุ้มกัน “โชห่วยไทย” ปรับตัวอย่างไรในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

ภาพ:pixabay.com

คอลัมน์ช่วยกันคิด

สมฤทัย แสงทอง มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

หากย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยอดีตกาล เราจะพบว่าได้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้าและสินค้าโดยไม่ผ่านตัวกลาง (barter system) ต่อจากนั้นได้เปลี่ยนมาเป็นใช้ตัวกลางสำหรับแลกเปลี่ยน ซื้อขายสินค้า (money system) เพื่อความสะดวกสบายและเป็นมาตรฐาน เริ่มจากการใช้เบี้ย ใช้อัฐ เรื่อยมากระทั่งมาเป็นการใช้เงินตราในปัจจุบัน และจากการเปิดประเทศของไทยตั้งแต่ช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา

ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากทางฝั่งเอเชีย เช่น จีน อินเดีย หรือทางตะวันตกอย่าง ฝรั่งเศส ส่งผลให้ไทยได้รับอิทธิพลทางด้านอารยธรรมและวัฒนธรรมจากประเทศเหล่านั้นเข้ามา เช่น ศาสนา ภาษา วรรณคดี รูปแบบการค้า ฯลฯ และหลังจากการทำสนธิสัญญาทางการค้าเบาว์ริ่ง ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้ไทยได้รับอารยธรรมจากตะวันตกที่หลากหลายมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น ไฟฟ้า โทรเลข ไปรษณีย์ รถไฟ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเป็นพลวัต หรือเป็นสังคมมีการปรับตัวให้ทันตามกระแสของโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลามาตั้งแต่อดีต ตลอดจนได้มีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “ยุคโลกาภิวัตน์” ในที่สุด

ปัจจุบันถือว่าเป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้น จนกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ไปเสียแล้ว โดยอิทธิพลจาก disruptive technology ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และบริบททางเศรษฐกิจและสังคมอีกครั้ง และยังทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ขึ้น คือ “เศรษฐกิจดิจิทัล” (digital economy)

ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ทำให้เกิดการนำระบบออนไลน์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยมีหน้าที่เป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจ

เช่น การซื้อ-ขายสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์ ผ่านระบบ e-Payment การซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ฯลฯ จากปรากฏการณ์ในครั้งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป

สถานการณ์ด้านตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ของไทยถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA รายงานว่า มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยตั้งแต่ปี 2557-2562 พบว่า มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 8-10 ต่อปี

โดยในปี 2561 พบว่า มีมูลค่า e-Commerce ประมาณ 3 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่า จะเติบโตอีกร้อยละ 12 (มูลค่าราว 3.2 ล้านล้านบาท) และหากพิจารณาอัตราการเติบโตของผู้ประกอบการ e-Commerce ในไทย พบว่า ผู้ประกอบการประเภท B2C หรือผู้ค้าขายสินค้าโดยตรงไปยังผู้บริโภค มีอัตราการเติบโตมากที่สุด (คิดเป็นร้อยละ 14)

ทั้งนี้ เนื่องจากมีจำนวนร้านค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงถือเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีก ห้างร้านน้อยใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านขายของชำโชห่วย ว่าจะปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดในยุค digital economy

จากข้อมูลสถิติของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า สัดส่วนของผู้ประกอบการ SMEs ในไทย มีจำนวนมากกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนทั้งหมดในประเทศ และได้มีกระจายตัวอยู่ในทุกภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจประเภทค้าปลีกค้าส่ง กอปรกับการสำรวจของ Nielsen Thailand พบว่า ในปี 2561 ไทยมีจำนวนผู้ประกอบการร้านโชห่วยทั่วประเทศ ประมาณ 400,000 ราย ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของร้านค้าออนไลน์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อยอดขายของบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกและร้านโชห่วย ถึงขั้นที่สามารถเรียกได้ว่าอยู่ในสภาวะซบเซา ดังที่เราได้เห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์ว่า “บรรยากาศการค้าขายในย่านตลาดขายส่งเก่าแก่อย่าง “สำเพ็ง” เงียบเหงาที่สุดในรอบ 50 ปี” หรือ “ยอดขายค้าปลีกไทยลดจากหลักพันต่อวัน เหลือเพียงหลักร้อยต่อวัน” (เนื้อความจากเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มติชน)