แล้งหนักแล้งนาน หวั่นคนกรุงซดน้ำเค็ม

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

 

สถานการณ์ภัยแล้งได้กลายเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลทันทีที่ประเทศไทยผ่านพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่มาได้เพียงไม่กี่วัน สื่อมวลชนหลายสำนักได้พร้อมใจกันรายงานข่าวความแห้งแล้งที่มาเยือนประเทศไทยอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลาง-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ว่าจะเป็นภาพนาข้าวกำลังยืนต้นตาย แหล่งน้ำหลักที่แห้งขอด

กล่าวโดยสรุปภาพรวมยังไม่ทันเข้าสู่ฤดูแล้งอย่างเต็มตัวในเดือนเมษายน ตอนนี้ผู้คนในประเทศเริ่มต้นเผชิญกับการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคในหลาย ๆ จังหวัด ในขณะที่คนเมืองหลวงถึงมีน้ำในก๊อก แต่เริ่ม “เค็ม” จนสุดท้ายอาจจะใช้ประโยชน์อันใดมิได้

ความจริงอาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์ภัยแล้งของปี 2563 นั้นเกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากปี 2562 จากพายุที่พัดผ่านเข้าสู่ประเทศทางทิศตะวันออกเพียง 3-4 ลูกในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ไม่สามารถเติมเต็มน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนตกที่ชายขอบของประเทศและใน สปป.ลาวเสียเป็นส่วนใหญ่ จนทำให้เขื่อนหลักอย่างเขื่อนอุบลรัตน์ ในจังหวัดขอนแก่น แทบไม่มีน้ำไหลลงอ่าง ส่งผลให้ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนติดลบต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 จนบัดนี้ถึงขั้นติดลบไปแล้ว -97 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ด้านสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลัก 4 แห่ง (ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) ที่ส่งน้ำมาหล่อเลี้ยงลุ่มเจ้าพระยา ก็อยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างกันนัก กล่าวคือ มีปริมารน้ำใช้การได้รวมกันแค่ 4,210 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ปริมาณน้ำระบายรวมกัน 18 ล้าน ลบ.ม./วินาที ในขณะที่ภัยแล้งยังยาวนานต่อเนื่องไปอีกไม่น้อยกว่า 6 เดือน และฤดูฝนอาจจะล่าออกไปอีก

จึงกลายมาเป็นความจำเป็นอันดับหนึ่งของการจัดสรรน้ำในขณะนี้จะต้องให้ความสำคัญกับน้ำกินน้ำใช้เป็นอันดับแรก ไม่ใช่น้ำเพื่อการเกษตรจนค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า จะต้องปล่อยให้ข้าว-พืชไร่ยืนต้นตายไปไม่ต่ำกว่า 3-4 ล้านไร่ เหตุเพราะไม่มีน้ำจะส่งไปให้ทำไร่ทำนาได้อีกต่อไป

ความจริงอันโหดร้ายของสถานการณ์น้ำในประเทศขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบมาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว จากสถานการณ์น้ำประปากร่อยและเค็มจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย จากเหตุการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์ “ลิ่มน้ำเค็ม” ที่ไหลย้อนขึ้นมาจากอ่าวไทยเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ได้ทะลุขึ้นไปจนถึง “สำแล” จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบในการทำน้ำประปาของคนกรุงเทพฯฝั่งตะวันออกในช่วงที่น้ำทะเลหนุนขึ้นสูง โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หาก 4 เขื่อนหลักยังสามารถระบายน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ปล่อยน้ำจากเหนือมาผลักดันน้ำเค็มจากทางใต้ได้ตามปกติ

หากติดตามปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงไหลผ่านสถานีบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จะพบความจริงที่น่าตกใจว่า ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านแค่ 90 ล้าน ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น ถือว่ามีปริมาณน้ำน้อยมากจนไม่สามารถผลักดันน้ำเค็มไม่ให้ขึ้นมาถึง จ.ปทุมธานีได้ จากเกณฑ์ปกติที่ควรจะต้องมีปริมาณน้ำไหลผ่านไม่ต่ำกว่า 100 ล้าน ลบ.ม./วินาทีขึ้นไป

ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นก็คือ ช่วงน้ำทะเลหนุนขึ้นสูง การประปานครหลวงฝั่งตะวันออกจะไม่สามารถผลิตน้ำประปาให้มีค่าความเค็มไม่เกิน 0.25 กรัม/ลิตรได้ ในขณะที่ค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงตั้งแต่ท่าน้ำนนทบุรีลงไปนั้น เลิกหวังกันได้ว่าจะกลับมาอยุู่ในเกณฑ์สามารถบริโภคหรือรดน้ำต้นไม้ได้ เนื่องจากค่าความเค็มในขณะนี้ใกล้ทะลุ 5 กรัม/ลิตรขึ้นไปทุกทีแล้ว และจะยิ่งเสี่ยงหนักขึ้นไปอีก

หากในช่วงเดือนต่อ ๆ ไปนับจากนี้ ถ้าเขื่อนหลัก 4 แห่ง “จำเป็น” ต้องลดการระบายน้ำลงจากปัจจุบันที่ 18 ล้าน ลบ.ม./วินาที ก็จะส่งผลให้น้ำไหลผ่านบางไทรต่ำกว่า 90 ล้าน ลบ.ม./วินาที ตามไปด้วย เมื่อนั้นหายนะจะเกิดขึ้นกับคนกรุงเทพฯแน่นอน