เก็บ “น้ำฝน” คุ้มกว่า ทำ “น้ำจืด” จาก “น้ำทะเล”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กฤษณา ไพฑูรย์

ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้ หลายพื้นที่ในประเทศไทยถึงเวลาที่ต้องนำ “น้ำทะเล” อันแสนเค็ม มากรองโดยใช้เทคโนโลยีระบบรีเวิร์สออสโมซิส (reverse osmosis-RO) มาทำ “น้ำจืด” เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยเฉพาะหลายจังหวัดที่กำลังประสบปัญหา “ภัยแล้ง” ในปี 2563 เช่น โรงงานผลิตปิโตรเคมีแถวมาบตาพุด จังหวัดระยอง

รวมถึงโรงแรมหลายแห่งในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทำน้ำ RO กันมาหลายปี แต่ปีนี้มีความต้องการเพิ่มขึ้น

ทั้งที่ขั้นตอนกระบวนการผลิตน้ำ RO ยังมีต้นทุนที่สูงมาก ประมาณ 35-40 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

หากพิจารณาข้อมูลรายงานจากหน้าเว็บ ของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุโดยสรุปได้ว่า ปริมาณฝนตกรวมตลอดปีเฉลี่ยทั่วประเทศไทยมีค่าประมาณ 1,572.5 มิลลิเมตร

โดยปริมาณฝนในแต่ละพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะภูมิประเทศ นอกเหนือจากการผันแปรตามฤดูกาล

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นมาก โดยจะมีปริมาณฝนมากที่สุดใน เดือนสิงหาคม หรือกันยายน

พื้นที่ที่มีปริมาณฝนมากส่วนใหญ่จะอยู่ด้านหน้าทิวเขา หรือด้านรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ได้แก่ พื้นที่ทางด้านตะวันตกของประเทศบริเวณอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และภาคตะวันออกบริเวณจังหวัดจันทบุรี และตราด โดยเฉพาะที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีปริมาณฝนรวมตลอดปีมากกว่า 4,000 มิลลิเมตร

สำหรับภาคใต้มีฝนชุกเกือบตลอดปี ยกเว้นช่วงฤดูร้อน โดยภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีปริมาณฝนมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน พื้นที่ที่มีปริมาณฝนมากที่สุดอยู่บริเวณจังหวัดระนอง ซึ่งมีปริมาณฝนรวมตลอดปีมากกว่า 4,000 มิลลิเมตร…จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นของกรมอุตุนิยมวิทยาแสดงให้เห็นว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาแต่ละปีของประเทศไทย “ไม่ใช่น้อย”

บางจังหวัดถึงขั้น “น้ำท่วมหนัก” เช่น อุบลราชธานี ในช่วงเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา

แต่วันนี้ทุกภาคของประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหา “ภัยแล้ง”

โดยเฉพาะภาคตะวันออกในปีนี้ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง หนึ่งในจังหวัดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กำลังกังวลอย่างหนักว่าจะเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำ หลังเดือนมีนาคม 2563

เพราะจากการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ตัวเลขข้อมูลน้ำของกรมชลประทานที่บอกว่า “น้ำใช้การได้ทั้งหมด ณ วันที่ 17 มกราคม 2563 ใน 3 อ่างหลัก (อ่างเก็บน้ำประแสร์/ดอกกราย/หนองปลาไหล) รวมกันทั้งหมด ประมาณ 34.3% จะสามารถมีน้ำใช้ได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563”

แต่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมฟันธง ! ว่า จะมีน้ำใช้ได้แค่เดือนมีนาคม 2563 เท่านั้น !!

จากการนำข้อมูลมาเปรียบเทียบย้อนหลังไปถึงปี 2548 ที่เคยเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำครั้งใหญ่เมื่อ 14 ปีที่แล้วในภาคตะวันออก ยังมีปริมาณน้ำมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

และหากมี EEC เกิดขึ้นเต็มตัว มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น มีประชากรย้ายเข้ามาอยู่เพิ่มขึ้น จะเป็นอย่างไร

ขณะที่แผนระยะยาวในการบริหารจัดการน้ำ 20 ปีของรัฐบาล ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในระยองต่างส่ายหน้าในการยอมรับ

โดยเฉพาะแผนสร้าง 4 อ่างเก็บน้ำวังโตนด หลายคนบอกว่า เป็นแผนเก่าที่กำหนดก่อนเกิด EEC และเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จไปเพียง 1 แห่ง

ทำให้วันนี้ หน่วยราชการขอความร่วมมือลดการใช้น้ำทุกภาคลง 10% ส่งผลให้โรงงานปิโตรเคมีในพื้นที่ หันไปนำน้ำทะเลมาผลิตน้ำ RO

จึงเกิดคำถามว่า เมื่อไหร่ประเทศไทยจะสามารถ”บริหารจัดการน้ำ และกักเก็บน้ำฝน ไม่ให้ไหลทิ้งลงทะเล” ได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ เพราะการปล่อยน้ำฝนให้ไหลลงทะเล และดูดกลับขึ้นมากลั่นกรองให้เป็นน้ำจืดอีก…ฟังแล้วรู้สึกเศร้าใจ

เหมือนกับคำถามว่า เมื่อไหร่ประเทศไทยจะเลิกประสบปัญหา “น้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซาก” สักที