“ปัจจัยลบ” ต่อเศรษฐกิจไทยครึ่งแรก

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

เป็นที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่แล้ว โดยเริ่มเห็นปัจจัยบวก เช่น การบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน โดยการยุติการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกัน อย่างน้อยก็จนกว่าจะผ่านการเลือกตั้งในสหรัฐ ซึ่งน่าจะทำให้บรรยากาศการค้า การลงทุนดีขึ้นบ้าง สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสหรัฐและอิหร่านไม่รุนแรงและลุกลาม นอกจากนี้ยังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ยอดคำสั่งซื้อปรับเพิ่มขึ้น) และการส่งออกของประเทศหลัก (เกาหลี ไต้หวัน และจีน) เริ่มทรงตัวและน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในไตรมาสนี้

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าที่เกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ได้สร้างความกังวลว่า นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแล้ว ก็จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศต่าง ๆ ให้สะดุดและล่าช้าออกไป จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

ทั้งนี้เพราะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจจีนนั้น ปัจจุบันมีความสำคัญทั้งในแง่ที่เป็นผู้ผลิตสินค้า ผู้บริโภคสินค้า และผู้ส่งออกนักท่องเที่ยวรายใหญ่ของโลก ดังนั้นหากเศรษฐกิจจีนต้องสะดุดก็จะส่งผลกระทบ ได้มากกว่าปี 2546 (ตอนที่โรคไวรัสซาร์สแพร่ระบาด) ซึ่งบทบาทของจีนต่อเศรษฐกิจโลกยังไม่สูง

เบื้องต้นมีการประเมินในทางบวกว่า สถานการณ์น่าจะคลี่คลายได้เร็ว เพราะทางการจีนดำเนินมาตรการควบคุมและดูแลอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามประเมินว่า อย่างน้อยน่าจะส่งผลกระทบเชิงลบในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า

สำหรับเศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับผลกระทบทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว ซึ่งต้องยอมรับว่าจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอ ปัจจัยลบดูน่ากังวล

และน่าจะกระทบกับความเชื่อมั่นของธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคล่าสุดในเดือนธันวาคม 2562 ที่สำรวจโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังคงติดลบต่อเนื่องเป็นเวลา 10 เดือน โดยลดลงจาก 82 ในเดือนกุมภาพันธ์เป็น 68.3 ส่วนภาคธุรกิจนั้นสะท้อนจากดัชนีเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม ณ เดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ 92.3 ลดลงจาก 96.6 ในเดือนกุมภาพันธ์

ที่น่าสนใจ คือ อุตสาหกรรมที่ขายสินค้าในประเทศจะมีความเชื่อมั่นน้อยกว่าอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าส่งออก และอุตสาหกรรมขนาดเล็กมีระดับความเชื่อมั่นลดลงมากกว่าอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจภายใน และธุรกิจขนาดเล็กในประเทศอ่อนแอ

ปัจจัยลบที่เศรษฐกิจไทยจะยังต้องเผชิญ และน่าจะส่งผลให้การขยายตัวเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีน่าเป็นห่วง คือ

-การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว (ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวมีสัดส่วน 12% ของจีดีพี) โดยประเทศไทยน่าจะได้รับผลกระทบสูง เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนถึง 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด หรือประมาณ 10.8 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มาเป็นกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งปัจจุบันทางการจีนสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ดังนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยน่าจะปรับลดอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสนี้ หากนักท่องเที่ยวจีนหายไป 20% หรือประมาณ 600,000 คน ในไตรมาส 1 นี้ ก็ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวหายไป 30,000 ล้านบาทแล้ว ทั้งนี้ หากสถานการณ์ไม่คลี่คลายโดยเร็วอาจจะส่งผลทางจิตวิทยาต่อภาคการท่องเที่ยวโดยรวม ทำให้นักท่องเที่ยวอื่น ๆ นอกเหนือจากจีนเกิดความกังวลและงดเดินทางท่องเที่ยวด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก

-ความล่าช้าของการผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี ซึ่งคาดว่าจะล่าช้าไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน เพราะต้องรอผลตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่า การเสียบบัตรแทนกันจะมีผลให้ พ.ร.บ.ตกไปหรือไม่ ซึ่งเราคาดหวังกันว่าการใช้จ่ายภาครัฐจะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว จึงต้องรอไปก่อน ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณส่งผลต่อการเบิกจ่ายภาครัฐอย่างมาก เห็นได้จากการเบิกจ่ายงบฯในเดือนตุลาคม ถึงธันวาคมปีที่แล้ว (3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2020) ที่เบิกจ่ายเพียง 810,000 ล้านบาท น้อยกว่าปีที่แล้วถึง 18% โดยเฉพาะงบฯลงทุนเบิกจ่ายได้ 25,000 ล้านบาท ลดลงถึง 65%

-สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงกว่าที่คาด โดยระดับน้ำในเขื่อนใหญ่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีน้ำสำหรับใช้เพียง 20-24% โดยปัจจุบันบางพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำใช้ และภาครัฐ ได้แนะนำให้เกษตรกรลดพื้นที่ทำนาปรัง (ช่วงไตรมาส 2) เพราะความเสี่ยงว่าจะมีน้ำไม่เพียงพอสำหรับภาคเกษตร ซึ่งจะกระทบกับผลผลิตข้าวและรายได้ของเกษตรกร และหากภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบด้วยก็จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2

ดังนั้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แต่ดูเหมือนว่าจะยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลายประการใน 2-3 เดือนข้างหน้า ทำให้มีความเสี่ยงที่การฟื้นตัวจะช้าและน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ