จากเรือล่มถึง “ไวรัสอู่ฮั่น” บทเรียนสัมพันธ์ “ไทย-จีน”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวของไทยเผชิญกับ “วิกฤต” หลายรอบ ทั้งปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ฯลฯ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยก็ยังมีอัตราการเติบโตมาได้อย่างต่อเนื่อง

หากย้อนไปดูสถิตินักท่องเที่ยวจีนจะพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว กล่าวคือ จาก 1.12 ล้านคนในปี 2553 เพิ่มเป็น 10.98 ล้านคนในปี 2562 ที่ผ่านมา

โดยช่วงที่นักท่องเที่ยวจีนมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและชัดเจนคือ ช่วงปี 2556 ที่มีจำนวน 4.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีจำนวน 2.7 ล้านคน เรียกว่าเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคนในปีนั้น และช่วงปี 2558 ที่มีจำนวน 7.93 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีจำนวน 4.63 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 3.3 ล้านคนในปีเดียว

ขณะที่ปีอื่น ๆ การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1 ล้านคนต่อปี จะด้วยเหตุผลเรื่องจำนวนประชากรจีนที่มีมากกว่า 1,400 คน หรือความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนไทยกับคนจีนที่ทุกคนมักพูดว่า “ไทย-จีน พี่น้องกัน” ก็ว่ากันไป

ปี 2562 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนรวมราว 10.98 ล้านคน สร้างรายได้รวมเป็นมูลค่าประมาณ 5.5 แสนล้านบาท

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนนี้ทำให้นักลงทุนในภาคการท่องเที่ยวเร่งลงทุนด้านซัพพลายรองรับ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมที่พัก, ร้านอาหาร,สถานที่ท่องเที่ยว, สถานที่แสดงโชว์, รถนำเที่ยว, เรือนำเที่ยว ฯลฯ

ถ้าจะเรียกว่าในห้วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้เป็น “โอกาสทอง” ของกลุ่มผู้ประกอบการทัวร์จีนก็ไม่น่าจะผิดนัก

ไม่เพียงเท่านั้น บางกลุ่มทุนมีเครือข่ายขนาดใหญ่ทั้งบริษัททัวร์, ร้านช็อปปิ้ง, รถนำเที่ยว, โรงแรม, ร้านอาหาร, โชว์ เรียกว่ากินรวบธุรกิจทัวร์จีนครบวงจร

บางส่วนเข้ามาช่วยสร้างให้เศรษฐกิจของประเทศหมุนเวียน บางส่วนก็เข้ามาสร้างปัญหา (ทัวร์ศูนย์เหรียญ) แต่ท้ายที่สุดก็ต้องยอมรับว่า “ประเทศไทย” พึ่งพานักท่องเที่ยวจีน

และด้วยโครงสร้างภาคการท่องเที่ยวของไทยที่มีตลาดจีนคิดเป็นสัดส่วนถึงราว 30% ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยค่อนข้างอ่อนไหวกับ “ตลาดจีน” ทุกครั้งที่เกิด “วิกฤต” กับตลาดจีนการท่องเที่ยวของไทยจึงสั่นสะเทือน ภาครัฐต้องรีบเข้ามาฟื้นฟูและกระตุ้นตลาดให้พลิกกลับมาโดยเร็ว

ยกตัวอย่างกรณีของเรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อกลางปี 2561 ครั้งนั้นมีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิต บวกกับคำให้สัมภาษณ์ของผู้ใหญ่ในบ้านเราที่ไปกระทบจิตใจไงของคนจีน ทำให้นักท่องเที่ยวจีนแห่ยกเลิกการเดินทางในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 ทำเอาการท่องเที่ยวมูลค่ากว่า 3 แสนล้านของเมืองภูเก็ตสั่นไหวไปร่วมหมื่นล้าน

ว่ากันว่า ครั้งนั้นนอกจากนักท่องเที่ยวจีนจะขาดความเชื่อมั่นในการเที่ยวเมืองไทยแล้วยังสร้างความไม่พอใจให้กับคนจีน

โชคยังดีที่ผู้ใหญ่ท่านนี้รู้ตัวและกล่าวคำขอโทษได้ทันเวลา เหตุการณ์จึงไม่กระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สำหรับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอู่ฮั่นของจีนรอบนี้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยทันทีที่ประเทศจีนสั่งปิดประเทศด้วยการห้ามนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่ไม่มีความจำเป็นเดินทางออกนอกประเทศ เรียกว่า สถานการณ์รอบนี้รุนแรงกว่าวิกฤตรอบไหนที่ผ่านมา

การประกาศปิดประเทศของจีนทำให้วงจรธุรกิจทัวร์จีนในประเทศไทยหยุดชะงักทันทีเช่นกัน ทั้งบริษัททัวร์, รถนำเที่ยว, โรงแรม, ร้านอาหาร, แหล่งท่องเที่ยว, สินค้าชุมชน ฯลฯ

โดยประเมินกันว่า หากจีนใช้เวลาในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส 3 เดือน การท่องเที่ยวของไทยน่าจะสูญรายได้ไปกว่า 1 แสนล้านบาท

โดยสิ่งที่เกือบเป็น “วิกฤต” ซ้ำเติมท่องเที่ยวไทยในครั้งนี้คือ คำประกาศกร้าวยกเลิกมาตรการ VOA นักท่องเที่ยวจีนของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงสาธารณสุข

ในมุมของผู้เขียนเองมองว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหวสำหรับคนจีนพอสมควร เพราะอาจทำให้เขารู้สึกว่าเมืองไทยไม่ต้อนรับคนจีนแล้ว และอาจส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-จีนได้

ส่วนประเด็นที่น่าดีใจคือ การได้เห็นความมีน้ำใจของคนไทย และหลาย ๆ หน่วยงานทั้งด้านการท่องเที่ยวออกมาให้กำลังใจคนเมืองอู่ฮั่นและคนจีนผ่านคลิปวิดีโอและสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก และเห็นเมสเซจความชื่นชมและขอบคุณในน้ำใจของคนไทยเช่นกัน

บางเมสเซจสนำเสนอถึงสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองไทยพร้อมเมสเซจที่ว่า “คงมีสักวัน เราจะเอาหน้ากากออก ไปที่ที่เราคิดจะไป ไปเจอคนที่เราอยากจะเจอ”

นั่นหมายความว่า “ประเทศไทย” ยังคงเป็นเดสติเนชั่นในฝันของคนจีน ดังนั้น ตราบใดที่เรายังพึ่งพานักท่องเที่ยวจีน

ช่วงนี้ไปไหนมาไหนเจอคนจีนก็อย่าแสดงทีท่ารังเกียจ หรือเห็นพวกเขาเป็นตัวแพร่เชื้อโรคเลย

ที่สำคัญทุกภาคส่วนควรนำบทเรียนที่ได้เรียนรู้มาบริหารจัดการวิกฤต การ take action ให้เร็วและมีประสิทธิภาพนั้นสามารถทำ “เรื่องร้าย” ให้กลายเป็นบวกได้