งานแฟร์เอเชีย ระส่ำ “ธุรกิจอีเวนต์” ฝุ่นตลบสู้โควิด

คอลัมน์ Market Move

การเข้าร่วมงานเทรดแฟร์ เพื่อออกบูทโชว์สินค้าให้กับคู่ค้า และผู้บริโภค เคยเป็นกลยุทธ์สำคัญของหลายธุรกิจ แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ที่บีบให้หลายบริษัทต้องยกเลิก-เลื่อน หรือใช้การจัดงานบนออนไลน์ ได้กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือนิวนอร์มอล (new normal) ขึ้น จนทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องเร่งปรับตัว

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานถึงสถานการณ์ของธุรกิจจัดงานแฟร์ และการจัดประชุมในฮ่องกง ซึ่งที่่ผ่านมาถือเป็นหนึ่งในฮับของการจัดประชุม และงานแฟร์ในโซนเอเชีย

โดยสหพันธ์ผู้จัดอีเวนต์ งานแฟร์ และการจัดประชุม ของฮ่องกงประเมินว่า ผลกระทบจากมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 จะทำให้เกิดความเสียหายประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง โดยขณะนี้บริษัทมากกว่าครึ่งของวงการไม่มีรายได้เลย นับตั้งแต่ขึ้นปี 2563 จนขาดสภาพคล่องและเสี่ยงจะต้องปิดกิจการ โดยไม่สามารถรอถึงครึ่งปีหลังที่งานต่าง ๆ ถูกเลื่อนมาได้

ทั้งนี้ อาจเรียกได้ว่าโรคโควิด-19 เป็นตะปูอีกหนึ่งตัวที่จะมาปิดฝาโลงสำหรับธุรกิจงานแฟร์ในฮ่องกง-จีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มหดตัวมาก่อนหน้าแล้ว หลังบรรดาเจ้าของธุรกิจผู้เข้าร่วมงานเริ่มสงสัยในประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าของการทุ่มงบฯและเวลามาออกบูทในงาน หนึ่งในนั้นคือ “ริชาร์ด จาง” นักธุรกิจชาวฮ่องกง เจ้าของโรงงานผลิตอุปกรณ์ตกแต่งต้นคริสต์มาส ซึ่งเคยทุ่มงบฯสูงถึง 2 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 8.3 ล้านบาท เพื่อออกบูทในงานแสดงสินค้าประจำปี แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้หั่นงบฯในส่วนนี้ลงไปถึง 75% เนื่องจากจำนวนลูกค้าที่มาจากช่องทางนี้ลดลงต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน เจ้าของธุรกิจชาวฮ่องกงรายนี้หันไปพึ่งออนไลน์มากขึ้น โดยเตรียมเข้าร่วมโครงการของรัฐที่มีงบฯอุดหนุนให้ธุรกิจใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการหาฐานลูกค้าใหม่ ๆ

“เมื่อ 10 ปีก่อนการออกงานแสดงสินค้าช่วยให้บริษัทหาลูกค้าและทำยอดได้แบบเป็นกอบเป็นกำ แต่ปัจจุบันการมาออกงานเหมือนแค่บอกผู้คนว่า บริษัทเรายังเปิดกิจการอยู่เท่านั้นเอง นอกจากนี้จำนวนผู้เข้าชมงานเองลดลงด้วย”

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายธุรกิจที่มองว่าการจัดงานแฟร์ผ่านออนไลน์ ไม่สามารถทดแทนการจัดงานในสถานที่จริง และได้พบลูกค้าแบบตัวต่อตัวได้ เช่น การขายงานศิลปะ หรือกลุ่มธุรกิจบริการ อย่างการจัดงานแต่ง โดยโฆษกของงานอาร์ต บาเซิล (Art Basel) งานแสดงและขายงานศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนผู้ร่วมงานระดับ 8-9 หมื่นคน อธิบายว่า แม้การจัดงานบนออนไลน์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจะได้รับการตอบรับดี มีผู้เข้าร่วมถึง 2.5 หมื่นคน และแกลเลอรี่ต่าง ๆ สามารถทำยอดขาย-สร้างคอนเน็กชั่นได้น่าพอใจ

แต่งานแบบดิจิทัลจะไม่สามารถทดแทนการจัดงานจริง ๆ ได้ เพราะผู้ร่วมงานทั้งฝ่ายนักสะสมและแกลเลอรี่ไม่ได้มาเพื่อซื้อขายกันแบบซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ยังมีประเด็นด้านการสร้างความเชื่อมั่นรวมอยู่ด้วย ซึ่งต้องการอาศัยการพบปะพูดคุยกันแบบใกล้ชิด มากกว่าการคุยผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

สอดคล้องกับความเห็นของ “ซู ยุน” เจ้าของธุรกิจรับจัดงานแต่งงานจากหางโจว ซึ่งกล่าวว่า ธุรกิจจัดงานแต่งงานนั้น ความเชื่อมั่นเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของลูกค้า ทำให้การโชว์ผลงานจริงที่สามารถจับต้องได้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ นอกจากนี้รูปแบบงานยังไม่ตายตัว แต่ขึ้นกับความต้องการของลูกค้า จึงต้องเจรจากันโดยตรงเพื่อให้ได้รูปแบบงานที่ตรงใจที่สุด

“ที่่ผ่านมาบริษัทจะต้องออกงานแฟร์ในจีนให้ได้อย่างน้อย 3 งานต่อปี ซึ่งส่วนนี้สร้างฐานลูกค้าถึง 20% ของทั้งปี”

ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการให้เช่าสถานที่จัดงานในฮ่องกงยังมองในเชิงบวกว่า เมื่อการระบาดจบลงแล้ว งานแฟร์และการจัดประชุมจะกลับมาอีกครั้ง โดยโฆษณาของศูนย์การประชุมและนิทรรศการฮ่องกงอธิบายว่า งานเหล่านี้มีลักษณะเป็นงานประจำปี และมีการจัดมายาวนานจนกลายเป็นธรรมเนียมของวงการธุรกิจนั้น ๆ ไปแล้ว จึงยากที่จะเปลี่ยนแปลงหลังการเลื่อนหรือยกเลิกเพียง 1 ครั้ง

ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในวงการธุรกิจจัดงานแฟร์ อีเวนต์ และการจัดประชุม ซึ่งถูกดิสรัปต์โดยโรคระบาด ซึ่งต้องจับตาดูว่าผู้ประกอบการในธุรกิจนี้จะปรับตัวรับมือกันอย่างไร