ออกกำลังสู้โควิด วิ่งหรือเดิน…ดีกว่ากัน ?

pixabay
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย กฤษณา ไพฑูรย์

การคลายล็อกให้คนกลับมาออกกำลังกายในสวนสาธารณะได้ หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ทำให้หลายคนคลายความตึงเครียดลง

แต่หลายคนอาจยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่อง “การออกกำลังกายอย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย”

วันนี้มีหนังสือดี ๆ มาแนะนำ “หมอสอน…สุขศึกษา รอบรู้เรื่อง eXercise” รักใครให้ชวนออกกำลังกาย ที่เขียนโดยศาสตราจารย์คลินิก ดร. นายแพทย์อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา

หนังสือเล่มนี้ให้ความรู้ในภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ที่สำคัญ “หมออดุลย์” ผู้เขียนเองได้ออกกำลังกาย และเห็นผลจากสิ่งที่ลงมือทำอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ เมื่อมีเวลาว่าง “หมออดุลย์” จะถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ทางวิชาการ ด้วยถ้อยคำที่เข้าใจง่าย ๆ ผ่านเพจ “บันทึกเรื่องน่ารู้ By Dr.Adune” ซึ่งมีผู้ติดตามอยู่พอสมควร

ล่าสุด ได้เขียนบทความผ่านเพจไว้อย่างน่าสนใจกับสิ่งที่หลายคนกังวลเกี่ยวกับการออกกำลังกาย ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งมีอยู่ในหนังสือว่า ระหว่าง “การวิ่งกับการเดินเร็ว อะไรเผาผลาญพลังงานได้ดีกว่ากัน ?” ขอตัดบางช่วงบางตอนมาให้ได้อ่านกัน…

“ในยุคที่คนห่วงสุขภาพ ลดน้ำหนัก และมองหาการออกกำลังกาย เรามักจะรู้สึกว่า การวิ่งน่าจะเผาผลาญพลังงานได้มากกว่าการเดิน เพราะเห็นคนวิ่งแล้วเหงื่อออก ดังนั้น ภาพในความรู้สึก ในสื่อ ทำให้เราเข้าใจว่า ถ้าจะเผาผลาญพลังงานเพื่อลดน้ำหนัก เพื่อสุขภาพ ต้องวิ่งถึงจะดี แต่จากข้อมูลการวัดการใช้พลังงานต่อชั่วโมง ของคนน้ำหนัก 130 ปอนด์ (60 กก.) พบว่า การเดินเร็วที่ความเร็ว 5 ไมล์/ชม. (8 กม./ชม.) ใช้พลังงานเท่ากันใน 1 ชม. เท่ากับการวิ่งที่ความเร็วเดียวกัน การวิ่งที่ความเร็วเพิ่มขึ้นใช้พลังงานมากขึ้น ใน 1 ชม. … ข้อความนี้สนับสนุนความเชื่อแรกว่า การวิ่งใช้พลังงานมากกว่าเดิน

แต่พอมาดูรายละเอียดกลับพบว่า การเดินขึ้นเนินที่ความเร็ว 3.5 ไมล์/ชม.(5.6 กม./ชม.) และการวิ่งทางราบ ความเร็ว 5 ไมล์/ชม.(8 กม./ชม.) ใช้พลังงานเท่ากับการวิ่ง ที่ความเร็วอื่น ๆ ในระยะทางที่เท่ากัน (ใช้พลังงานต่อระยะทางเท่ากัน หรือใกล้เคียงกันมาก)… แสดงว่าการวิ่งไม่ได้ใช้พลังงานมากกว่า เพียงแต่ว่าการวิ่งจะได้ระยะทางที่เท่ากัน และใช้พลังงานที่เท่ากันในเวลาที่สั้นกว่าเท่านั้นเอง วิ่งยิ่งเร็ว ยิ่งใช้เวลาน้อย ทำให้เวลาที่เท่ากันจะเผาผลาญพลังงานมากกว่า

การเผาผลาญพลังงาน หรือการออกกำลังกาย เพื่อลดน้ำหนัก เพื่อสุขภาพ จึงใช้วิธีเดินหรือวิ่งก็ได้ ได้ผลเท่ากัน เพียงแต่ว่าการเดินใช้เวลามากกว่า …ข้อมูลบอกเราว่า เดินหรือวิ่งให้ได้ระยะทางเท่ากัน ด้วยความเร็ว 5.6 กม./ชม. (ถ้าเดินขึ้นเนิน) หรือ 8 กม./ชม. (ถ้าเดินปกติ) เท่านี้ก็ได้ผลเท่ากับคนวิ่งเร็ว ๆ ดังนั้นไม่ต้องวิ่ง ไม่ต้องกังวลเรื่องการปวดเข่า ไม่ต้องกังวลว่าน้ำหนักตัวมาก ทำไม่ไหว… สำคัญที่ว่า เมื่อเราต้นทุนน้อยก็ใช้เวลาเยอะหน่อย ไม่ต้องไปแข่งกับคนต้นทุนเยอะ ที่สามารถวิ่งได้อย่างรวดเร็วครับ …ทำไปเรื่อย ๆ ได้ผลเหมือนกันครับ…เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ ทำให้สม่ำเสมอ ทำให้ต่อเนื่อง แล้วดีต่อสุขภาพครับ”


ท้ายนี้อยากให้ทุกคน “ปล่อยวาง” จากเรื่องเครียด ๆ มายืดเส้นยืดสาย ออกกำลังกาย และทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ถือเป็นการสร้างภูมิต้านทานโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี