การย้ายฐานการผลิตออกจากจีน

(FILES) (Photo by ISAAC LAWRENCE / AFP)

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

ประเทศจีน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมของโลก กำลังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่รุนแรงขึ้นในปี 2018 ทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ใช้จีนเป็นฐานการผลิต เริ่มมองหาฐานการผลิตอื่นเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการกีดกันการค้า (นอกเหนือจากปัญหาการค้า ค่าแรงที่สูงขึ้น กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับมลพิษ และการเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้จีนเริ่มน่าสนใจลดลงในการเป็นฐานการผลิต)

และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนเร็วขึ้น เพราะการแพร่ระบาดที่เริ่มต้นในประเทศจีน ทำให้จีนประกาศปิดเมืองกว่า 1 เดือน หลายอุตสาหกรรมต้องหยุดสายการผลิต การส่งสินค้าหยุดชะงัก ทำให้หลายประเทศได้รับผลกระทบจากการขาดชิ้นส่วนจากจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งจีนเป็นประเทศที่มีสายการผลิตที่สมบูรณ์ที่สุดของโลก และจีนยังเป็นผู้ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก เช่น โทรศัพท์มือถือส่งออกประมาณ 28% ของโลก คอมพิวเตอร์ส่งออก 20% และโทรทัศน์ 20% ของโลก


แบงก์ออฟอเมริกา มองว่าการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมไฮเทคใน 3-5 ปีข้างหน้า น่าจะมีแนวโน้มหลัก 3 ประการ คือ

1.ลดการพึ่งพาจีน โดยย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปประเทศอื่น หรือแม้แต่กลับไปประเทศตัวเอง (relocalization and localization) คือ มีการย้ายฐานการผลิต เช่น แอปเปิลเริ่มย้ายฐานการผลิตสินค้าที่ไม่ซับซ้อน เช่น AirPods และ Apple Watch ไปเวียดนาม และการประกอบคอมพิวเตอร์ไปเม็กซิโกหรือญี่ปุ่น ที่รัฐบาลให้เงินสนับสนุน (2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับธุรกิจญี่ปุ่นในการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนกลับญี่ปุ่นหรือย้ายไปประเทศอื่น

2.มีการกระจายความเสี่ยงจากการมีสายการผลิตที่ครบวงจรในแห่งเดียว (megamanufacturing cluster) เป็นมีแหล่งผลิตหลายแห่ง เพื่อลดความเสี่ยงในกรณีที่ฐานการผลิตที่มีอยู่เกิดปัญหาต้องหยุดการผลิต

3.ผลิตชิ้นส่วนแบบโมดูลาร์ (modularization design) ทำให้การผลิตชิ้นส่วนลดความซับซ้อนและมีความคล่องตัว ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำระบบออโตเมชั่น (automation) มาใช้ได้มากขึ้น และทำให้ขั้นตอนการประกอบชิ้นส่วนทำให้ง่ายขึ้น

ทั้งมองว่า ในกลุ่มประเทศเอเชีย ประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากจีน คือ เวียดนาม ไต้หวัน อินเดีย และไทย นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ว่า การผลิตหรือประกอบชิ้นส่วนขั้นสุดท้ายมีแนวโน้มจะทำในประเทศหรือใกล้กับแหล่งที่เป็นตลาดผู้ซื้อใหญ่ เช่น สหรัฐ ละติน และอินเดีย นอกเหนือจากจีน

สำหรับประเทศในเอเชียที่มองว่า เป็นประเทศที่โดดเด่นที่สุด ในการเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ คือ เวียดนาม ดังจะเห็นได้จากการลงทุนทางตรงที่ไหลเข้าไปในเวียดนามในปี 2019 สูงถึง 38,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการลงทุนต่างชาติที่เข้าไปในเวียดนามมาจากทั้งจีน เกาหลี และญี่ปุ่น โดยระยะหลังเริ่มมีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ย้ายฐานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การที่เวียดนามมีแรงงานเพียง 55 ล้านคน ขณะที่จีนมีแรงงาน 807 ล้านคน ทำให้เวียดนามจะไม่สามารถทดแทนจีนในการเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ที่ใช้แรงงานจำนวนมากได้อย่างสมบูรณ์ เบื้องต้นจึงเป็นการย้ายการผลิตในสินค้าที่ไม่ซับซ้อนและใช้แรงงานไม่มากนัก เช่น กรณีของแอปเปิล ได้ย้ายการผลิต AirPods และ Apple Watch ไปเวียดนามเป็นส่วนแรก

ไต้หวัน เป็นประเทศที่น่าจะได้รับการลงทุนในส่วนของวิจัยและพัฒนา และการผลิตชิ้นส่วนชั้นสูงของอุตสาหกรรมไฮเทค ด้วยพื้นฐานความแข็งแกร่งในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายสำคัญของเอเชีย ดังจะเห็นได้ว่า ทั้งกูเกิลและแอปเปิลได้ขยายการลงทุนในไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบฐานข้อมูล (data center), ระบบจอภาพแอลอีดี, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ซับซ้อนอื่น ๆ

อินเดีย เป็นประเทศที่มีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ เพราะมีประชากรมากเป็นอันดับสองรองจากจีน ทำให้มีความได้เปรียบในด้านแรงงาน (แรงงานในวัยทำงาน 522 ล้านคน) และต้นทุนแรงงานยังต่ำ จึงมีความเป็นไปได้ว่าอุตสาหกรรมหรือสินค้าที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากอาจจะย้ายฐานการผลิตมาที่อินเดีย เช่น บริษัทแอปเปิล อาจจะเลือกอินเดียเป็นฐานการผลิตโทรศัพท์ไอโฟน เพื่อป้อนตลาดภายในและเป็นฐานการผลิตสำหรับตลาดประเทศกำลังพัฒนาด้วย นอกจากนี้ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ อาทิ เคเบิล แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ก็อาจจะมีการย้ายฐานตามมาด้วย

ไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับความสนใจในการเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพราะบางบริษัทมีฐานการผลิตอยู่แล้ว ดังนั้นการขยายกำลังการผลิตในไทย จึงเป็นทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงออกจากประเทศจีน