สัญญาณเตือนจากแบงก์ชาติ

บทบรรณาธิการ

เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบภายในและนอกประเทศ ทำให้ภาพรวมที่อ่อนแอเปราะบางอยู่แล้วยิ่งเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะวิกฤตหนี้ที่ภาคครัวเรือน ธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs)ติดกับดักถอนตัวไม่ขึ้น

เป็นสัญญาณอันตรายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จับตาและเกาะติดสถานการณ์ ควบคู่กับเร่งแก้ปัญหาด้วยการปลดล็อกระเบียบกฎหมาย และออกมาตรการผ่อนคลาย เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกหนี้ที่กำลังยากลำบากอย่างมาตรการล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่แบงก์ชาติขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล จากผลการดำเนินงานปี 2563 และให้งดซื้อหุ้นคืน เพื่อรักษาระดับเงินกองทุนรองรับการดำเนินธุรกิจ และความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19

เป็นมาตรการที่ออกมาไล่หลังการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระยะที่ 2 ที่ให้ธนาคารพาณิชย์ บริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทเงินทุน ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ฯลฯ

แม้เสียงสะท้อนที่ตามมาจะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย โดยสมาคมธนาคารไทย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์ฯ สภาธุรกิจตลาดทุนประสานเสียงขานรับ มองว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันการเงิน

ขณะที่ฝ่ายที่มองต่างอย่างโบรกเกอร์ นักลงทุนท้วงติงว่าเป็นการส่งสัญญาณด้านลบ ผลกระทบจากโควิดอาจรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. รวมทั้ง นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธปท. ต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจ พร้อมย้ำว่าเป็นการดำเนินนโยบายในเชิงป้องกันให้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง

เป้าหมายคือรักษาระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ของระบบธนาคารพาณิชย์รองรับความไม่แน่นอน และผลกระทบจากโควิด โดยเฉพาะปัญหาหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น เพราะเคยมีบทเรียนช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ NPLs พุ่งสูงถึง 50% แม้ปัจจุบัน NPLs ที่ 4.9 แสนล้านบาท หรือ 3.05% ของสินเชื่อคงค้าง 15.3 ล้านล้านบาทยังไม่ถึงกับเป็นปัญหา

ที่สำคัญมาตรการที่ออกมาไม่ต่างไปจากแนวทางที่ธนาคารกลางหลายประเทศนำมาใช้รับมือโควิดที่ยังไม่รู้จุดสิ้นสุด แม้ตลาดหุ้น นักลงทุนจะได้รับผลกระทบ แต่คงเกิดขึ้นในระยะสั้น แลกกับผลดีที่จะตามมาในระยะยาว การสร้างภูมิคุ้มกันธนาคารพาณิชย์จากที่แบงก์ชาติส่งสัญญาณเตือน และสั่งให้ปฏิบัติ เพื่อเตรียมรับมือล่วงหน้า ก่อนวิกฤตจะมาถึง