วิถีไทย-วิถีลิง

ลิงเก็บมะพร้าว
Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP
คอลัมน์ สามัญสำนึก
ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ประเด็นการกล่าวหาประเทศไทยบังคับใช้แรงงานสัตว์จากกรณี “ลิงเก็บมะพร้าว” ขององค์กรมนุษย์เพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม หรือ People for the Ethical Treatment of Animals (PETA) ได้หวนกลับมาอีกครั้ง จากที่ได้เคยเกิดข้อกล่าวหาทำนองนี้กับลิง และปลากัดไทย มาก่อนหน้านี้แล้ว

โดย PETA ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า สวนมะพร้าวในไทยบังคับลิงเก็บมะพร้าวส่งขายทั่วโลก และพบลิงจำนวนมากในโรงเรียนฝึก ถูกจับไปฝึกให้เก็บมะพร้าว มีการจับลิงล่ามโซ่และขังในกรง พร้อมกับนั้น PETA ได้เรียกร้องให้ผู้บริโภคเลิกสนับสนุนการใช้แรงงานลิง ด้วยการ “แบน” ผลิตภัณฑ์มะพร้าวทั้งหมดจากประเทศไทย

ข้อกล่าวหาทั้งหมดของ PETA ยังได้รับการสนับสนุนจาก Carrie Symonds นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คู่หมั้นของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ Boris Johnson ก็ได้ทวีตข้อความเรียกร้องให้ห้างสรรพสินค้าทุกแห่ง ร่วมมือกันแบนผลิตภัณฑ์กะทิและน้ำมะพร้าวที่ใช้แรงงานลิงด้วย

ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในอังกฤษ ซึ่งทราบกันดีถึง “ความอ่อนไหว” ของผู้บริโภคที่มีต่อการทารุณสัตว์ อาทิ ห้างเวทโทรส, โอคาโด, โค-ออป และบู๊ทส์ เก็บสินค้าผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่ส่งมาจากประเทศไทยออกจากชั้นวางสินค้าทันที มีการประเมินความเสียหายเบื้องต้นจากข้อกล่าวหาของ PETA ประมาณ 300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30% ของผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่วางจำหน่ายในอังกฤษ ส่วนอีก 70% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท ถูกกระจายอยู่ในร้านค้าปลีกของคนเอเชียในอังกฤษ

จนกลายเป็นความกังวลของชาวสวนมะพร้าว บริษัทผู้ผลิตกะทิ หรือสินค้าอาหารที่มีส่วนผสมจากกะทิ และผู้ส่งออก เกรงว่าเหตุการณ์การ “แบน” ผลิตภัณฑ์มะพร้าวโดย “สมัครใจ” ของบรรดาห้างสรรพสินค้าในอังกฤษ จะลุกลามออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรป รวมไปถึงสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ของการส่งออกไทย

แต่ดูเหมือนการแก้ปัญหาของฝ่ายไทยจะไม่ทัน “เกม” ของ PETA เนื่องจากข้อกล่าวหาดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้กับการส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทยไปแล้ว ทั้งในแง่ของตัวเงินและภาพลักษณ์สินค้าไทย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญกว่า

Advertisment

โดยผู้เกี่ยวข้องในภาคราชการไทยต่างออกมาแก้ข้อกล่าวหาว่า การใช้ลิงเก็บมะพร้าวนั้นถือเป็นวิถีไทย ที่ดำเนินการสืบทอดต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน เป็นการผูกพัน เป็นความรักระหว่างคนไทย (ชาวสวนมะพร้าว) กับลิง แต่ก็เป็นการพูดแก้ข้อกล่าวหากันภายในประเทศ และยัง “ไม่ได้ยิน” ไปถึงผู้บริโภคในอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจสำคัญว่า จะซื้อหรือไม่ซื้อ จะแบนหรือไม่แบน มะพร้าวไทย

ร้อนถึงบริษัทผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทย หลายบริษัทต้องช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการทำหนังสือชี้แจงคู่ค้าทั้งในอังกฤษ และยุโรปหลายประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาลุกลามบานปลายว่า ผลิตภัณฑ์มะพร้าวของบริษัท “ไม่ได้ใช้ลิงเก็บมะพร้าว” แต่ใช้แรงงานคนเก็บมะพร้าว จึงตัดปัญหาในเรื่องของการใช้แรงงานสัตว์ออกไปได้

Advertisment

ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ไทยก็ออกมารับลูกด้วยข้อเสนอที่จะจัดทำมาตรฐานในการตรวจสอบสินค้า ด้วยการ “ติดรหัส” ลงในบรรจุภัณฑ์สินค้าผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทย สามารถ “ตรวจสอบย้อนกลับ” ไปยังแหล่งที่มาของมะพร้าวได้ว่า มาจากสวนมะพร้าวที่ไม่มีการใช้แรงงานลิง นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเชิญ เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ลงพื้นที่ตลอดจนเยี่ยมชมโรงเรียนฝึกลิงด้วย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในเรื่องของการติดรหัสและการตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งมะพร้าวเพื่อแสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์มะพร้าวส่งออกชนิดนั้น ๆ “ไม่ได้ใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าว” เป็นคนละเรื่องกับ “วิถีไทย” ระหว่างคนกับลิง ส่งผลให้ข้อกล่าวหาของ PETA ในเรื่องของการใช้แรงงานลิง การจับลิงมากักขังเพื่อฝึกให้เก็บมะพร้าว “ยังไม่ได้รับการแก้ไข” ที่พร้อมจะถูกกลุ่มผู้พิทักษ์สวัสดิภาพสัตว์หยิบยกขึ้นมาโจมตีได้ทุกเมื่อ

จากข้อเท็จจริงที่ว่า การกล่าวหาที่ปราศจากการตรวจสอบสามารถก่อให้เกิดหายนะได้ทันทีแค่เวลาชั่วข้ามคืนเท่านั้น