มอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช” บทเรียนราคาแพงจากความเร่งรีบ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย ประเสริฐ จารึก

คิมหันต์ผ่าน วสันต์มา กาลเวลาไม่คอยคน ประชาชนหาเช้ากินค่ำ ยังต้องก้มหน้ากรำงานกันต่อไป แม้อารมณ์จะเบื่อ ๆ อยาก ๆ สักแค่ไหน ให้คิดเสียว่ามีงานทำยังดีกว่าตกงาน

ตอนนี้ดัชนีความสุขของคนทั้งประเทศ น่าจะต่ำเตี้ยไม่แพ้ดัชนีเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ที่ดิ่งเหวจนติดลบ 12.2% ต่อปี ผลพวงพิษโควิด-19 ที่ยังระบาด ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย ยังไม่รู้อีกกี่ปีจะพลิกฟื้น

ขณะที่ “รัฐบาลประยุทธ์” กำลังตกอยู่ท่ามกลางวังวน “ม็อบ” ที่ออกมาเคลื่อนไหวจาก “ม็อบเยาวชน” ยกระดับเป็น “ม็อบประชาชน” ที่ออกมาแสดงออกถึงความต้องการปลดแอกทางการเมือง

จากสถานการณ์ที่ไปกันใหญ่ จะสร้างความสั่นคลอนให้ “รัฐบาล” สะท้านได้มากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไทยที่ทั่วโลกเฝ้าติดตามในเวลานี้

อีกวังวนที่น่าติดตามไม่แพ้กัน นั่นคือ การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม ที่มีโครงการสารพัดกำลังโหมตอกเข็มสร้างกันมันมือ

โฟกัสมอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-นครราชสีมา” ระยะทาง 196 กม. สร้างเชื่อม 3 จังหวัด พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ดูเหมือนจะเดินหน้าฉลุยล่าสุดเริ่มส่งสัญญาณไม่ดี โครงการอาจจะมีดีเลย์หาก “กรมทางหลวง” ไม่ช่วยทะลวงปมค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น 6,000 ล้านบาท จากการปรับแบบก่อสร้างกว่า 10 สัญญาที่กำลังขย่มต้นทุนรับเหมาจนอ่วมอรทัยไปตาม ๆ กัน

ก่อนหน้านี้รับเหมาทั้ง 40 สัญญา สร้างผลงานชิ้นโบแดง พร้อมใจกันดัมพ์ราคาประมูลช่วยรัฐบาลประหยัดเงินไปกว่า 10,000 ล้านบาท สุดท้ายกลายเป็นโปรเจ็กต์แสลงใจ เจอโป๊ะแตกแบบก่อสร้างหน้างานไม่ตรงปก จากสภาพพื้นที่เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ต้องรื้อแบบกันใหม่ในบางสัญญา

ว่ากันว่า เป็นการบริหารงานที่ผิดพลาดของ “กรมทางหลวง” ที่เร่งรีบเสนอขออนุมัติโครงการโดยไม่รีวิวผลศึกษาที่สำรวจไว้นานนับ 10 ปีอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนเปิดประมูล

เป็นความผิดพลาดซ้ำรอยมอเตอร์เวย์ “บางใหญ่-กาญจนบุรี” ที่ค่าเวนคืนเพิ่มขึ้นจากสภาพพื้นที่เปลี่ยนไป จากเดิม 5,420 ล้านบาท เป็น 17,452 ล้านบาท

ส่งผลให้โครงการติดหล่มปมค่าที่ดินแพงอยู่ 2 ปี กว่า “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จะปิดเกมกล่อมคณะรัฐมนตรีไฟเขียวอนุมัติงบประมาณให้ ก็ใช้เวลาอยู่นานหลายเดือน

ครั้งนั้นเป็นการแจกเงินให้ประชาชนที่ถูกเวนคืนที่ดิน จึงมีเสียงปรบมือให้กำลังใจล้นหลาม ต่างจากกรณีมอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-นครราชสีมา” ที่ของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อตีเช็คจ่ายให้นายทุนผู้รับเหมา

ตอนนี้ “กรมทางหลวง” ยังหาช่องทาง วิธีการเสนอของบประมาณที่เพิ่มขึ้นให้ “บิ๊กคมนาคม” ยอมเปิดใจ เปิดไฟเขียวให้ไม่ได้

แม้ว่าจะมีงบประมาณที่เหลือจากค่าก่อสร้างที่ผู้รับเหมาดัมพ์ราคาประมูล แต่เมื่อมีคำสั่งห้ามปรับแก้ไขสัญญา เลยไม่มีใครกล้าดีแคลร์ แต่ถ้าผู้รับเหมาสร้างเสร็จ กรมทางหลวงจะออกหนังสือแสดงความขอบคุณ ต้องวัดใจ “บิ๊กคมนาคม-กรมทางหลวง” สุดท้ายจะใจกล้าไฟต์ให้หรือไม่

จะว่าไปปมปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความผิดผู้รับเหมาเสียทีเดียว แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นงานรับเหมา ต้องรับภาระ ความเสี่ยงทุกอย่าง

แต่กรณีนี้เกิดจากแบบก่อสร้างที่ถูกรื้อใหม่ จนทำให้ค่าก่อสร้างบานปลาย จะให้ผู้รับเหมาก้มหน้ารับเงินค่างวดเท่าเดิมคงเป็นไปได้ยาก

หาก “บิ๊กคมนาคม-บิ๊กกรมทางหลวง” ยังนิ่งเฉยอาจจะกลายเป็นระเบิดเวลาของโครงการ ผู้รับเหมาถอดใจ ทิ้งงานกลางคัน ลามเป็นลูกโซ่กระทบการมอบพื้นที่งานระบบเก็บค่าผ่านทาง (O&M) ที่บีทีเอส-กัลฟ์ฯ-ซิโน-ไทยฯ-ราช กรุ๊ป กำลังจับปากกาเซ็นสัญญา 30 ปีเร็ว ๆ นี้อาจจะไม่มาตามนัด

ปัจจุบันมอเตอร์เวย์สายนี้ยังเหลืองานก่อสร้าง 23 สัญญา ไล่เรียงมีรับเหมาก่อสร้างทั้งที่เป็นมหาชน-ห้างหุ้นส่วนที่รับผิดชอบงานก่อสร้าง ล่าสุดกรมทางหลวงต่อเวลาให้ไปถึงปลายปี 2565

แต่งานนี้ผู้รับเหมาอยากได้เงินมาต่อลมหายใจมากกว่าเวลาที่ทอดยาวออกไป เพราะมีแต่จะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายมอเตอร์เวย์ 2 สายใหม่ที่งบประมาณเพิ่ม 20,000 ล้านบาท น่าจะเป็น “บทเรียน” ให้กับหน่วยงานที่คิดจะขออนุมัติโครงการใหญ่ ๆ

เมื่อจะเสนอแผนลงทุนต้องดูให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณของประเทศภายหลัง