มาตรฐานสินค้าอาหารใน EU คุมเข้มห่วงโซ่อุปทานการผลิต

สินค้าผัก-ผลไม้
คอลัมน์ ช่วยกันคิด
สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป รายงานว่า ปัจจุบันมาตรฐานเอกชน (private standards) เข้ามามีบทบาท โดยมาตรฐานดังกล่าวกำหนดขึ้นโดยองค์กรเอกชน หรือองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐต่าง ๆ เช่น บริษัท หรือองค์กร NGOs ซึ่งเป็นมาตรการสมัครใจ (voluntary) เพิ่มเติม (top up) จากข้อกำหนดภาครัฐ เพื่อควบคุมการผลิต การแปรรูป การจัดหา การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง การบริการ รวมถึงการจัดการด้านอื่น ๆ ในห่วงโซ่อาหาร เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนด หรือความต้องการ ค่านิยมของตลาด

อย่างไรก็ตาม มาตรฐานเอกชน บางประเภทได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นบรรทัดฐานที่ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ต้องปฏิบัติตาม อาทิ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Global G.A.P.) มาตรฐานความปลอดภัยอาหาร (SQF 1000/SQF 2000) และมาตรฐานการประมงที่ยั่งยืน (Marine Stewardship Council) เป็นต้น

ปัจจุบันมาตรฐานเอกชนเข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานอาหารอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานเอกชนที่กำหนดไว้ และหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้า จากการที่ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ไม่อนุญาตให้มีการวางจำหน่ายสินค้าที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานเอกชนต่าง ๆ

แรงขับเคลื่อนที่ทำให้มาตรฐานเอกชนได้รับความนิยม

1.โลกาภิวัตน์ทางการค้า (Globalisation of Trade)

ช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา การค้าสินค้าระหว่างประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการจัดซื้อวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย (final product) ซึ่งการปรับใช้มาตรฐานเพื่อควบคุมคุณภาพสินค้า เป็นวิธีที่มีต้นทุนและความเสี่ยงน้อยกว่า การที่บริษัทหนึ่งจะทำการลงทุนหรือซื้อกิจการ (take over) ในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตสินค้า/วัตถุดิบนั้น ๆ ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ICT ได้เสริมสร้างให้การควบคุมมาตรฐานตลอดห่วงโซ่อุปทานมีความสะดวกและง่ายยิ่งขึ้น อาทิ การใช้ระบบบาร์โค้ดหรือรหัส QR ในการตรวจสอบย้อนกลับ

2.อำนาจต่อรองของร้านค้าปลีก

การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ทั้งระดับประเทศ และระหว่างประเทศ ทำให้ธุรกิจค้าปลีกต่าง ๆ มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการกำหนดราคาและเงื่อนไขในการจัดหาสินค้าเพื่อจำหน่าย อาทิ คุณภาพสินค้า มาตรฐานการผลิต/การแปรรูป มาตรฐานการจัดส่งสินค้า ซึ่งเป็นมาตรฐานเอกชนที่พัฒนาโดยร้านค้าปลีก เช่น มาตรฐาน Nature’s Choice ของเทสโก้ Filieree Qualite ของคาร์ฟูร์ และ Field-to-fork ของ M&S)

3.ความต้องการผู้บริโภคเปลี่ยนไป

นอกเหนือจากที่ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับราคาและรูปลักษณ์ภายนอกของสินค้าเป็นหลักแล้ว ปัจจุบันรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับคุณค่าที่แท้จริงของอาหารมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพหรือคุณค่าด้านจริยธรรม เช่น มาตรฐานด้านแรงงาน มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งผลตอบแทนอย่างยุติธรรมของเกษตรกร

4.กฎระเบียบที่เข้มงวด

วิกฤตการณ์อาหารที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อาทิ การแพร่ระบาดของโรควัวบ้า และไข้หวัดนกได้ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ปรับใช้กฎระเบียบ/มาตรการที่มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นในการควบคุมความปลอดภัยอาหาร รวมทั้งบังคับให้อุตสาหกรรมอาหาร และผู้ค้าปลีก มีหน้าที่รับผิดชอบต่อความปลอดภัยอาหารตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องกำหนดให้ผู้จัดหาสินค้าปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ และผ่านการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ

มาตรฐานเอกชนสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้

มาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพอาหาร อาทิ มาตรฐาน Nature’s Choice ของห้างเทสโก้ ที่รับรองด้านความปลอดภัยอาหารสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพและสวัสดิภาพแรงงาน มาตรฐาน Red Tractor ที่รับรองสินค้าเกษตรคุณภาพสูงในสหราชอาณาจักร, มาตรฐาน BAC ของสมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร มาตรฐาน HACCP ควบคุมดูแลความปลอดภัยกระบวนการผลิตอาหาร, มาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร ISO 22000 และมาตรฐาน IFS (International Food Standard) และ SQF (Safe Quality Food)

การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและการทำเกษตรอย่างยั่งยืน อาทิ มาตรฐาน Global G.A.P. (ครอบคลุมตั้งแต่ความปลอดภัยอาหาร การตรวจสอบย้อนกลับ สุขภาพสวัสดิภาพแรงงาน สวัสดิภาพสัตว์ และการทำเกษตรอย่างยั่งยืน) มาตรฐาน Fil-iere Qualite ของคาร์ฟูร์ (รับประกันรสชาติ และความถูกต้องของสินค้าดั้งเดิม ความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม) มาตรฐาน Filiere Responsables ของซูเปอร์มาร์เก็ต Auchan ในฝรั่งเศส (คุณภาพรสชาติ สิ่งแวดล้อม การตรวจสอบย้อนกลับ และการมีส่วนร่วมทางสังคม)

มาตรฐานสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เช่น มาตรฐานการประมงที่ยั่งยืน (MSC : Marine Stewardship Council) มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน (ASC : Aquaculture Stewardship Council มาตรฐาน Rainforest Alliance Certified เพื่อรับรองชา กาแฟ โกโก้ กล้วย ดอกไม้ หรือเยื่อกระดาษที่ให้ความสำคัญต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มาตรฐาน LEAF ที่เชื่อมโยงสิ่งแวดล้อมกับการทำฟาร์ม, มาตรฐานการปล่อยคาร์บอนของผลิตภัณฑ์ (Product Carbon Footprints : PCFs) ขององค์กร Carbon Trust

มาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ เช่น มาตรฐาน Demeter ที่ใช้มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก, มาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยองค์กร Soil Association, มาตรฐาน AB (Agriculture Biologique) ที่ใช้ในฝรั่งเศส Delhaize Bio ของซูเปอร์มาร์เก็ตในเบลเยียม และ Planet Organic ของซูเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายเฉพาะสินค้าอินทรีย์ในสหราชอาณาจักร

มาตรฐานแรงงานและสังคม เช่น มาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO : International Labour Organization) มาตรฐานการค้าที่เป็นธรรม (fair-trade) ขององค์กรแฟร์เทรดสากล, มาตรฐาน (ET) (Ethical Trading Initiative) เพื่อปกป้องสิทธิแรงงาน มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและการค้าที่เป็นธรรม Fair for Life

ประโยชน์ของมาตรฐานเอกชนต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

1.ผู้ผลิตและเกษตรกร

– การจัดการในห่วงโซ่อุปทาน/ฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ

– ลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพสินค้า เพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และผลตอบแทนที่สูงขึ้น

– เกษตรกรมีสุขภาพและสภาพการทำงานที่ดีขึ้น

– เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อฟาร์ม และสร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์ (product differentiation)

2.ผู้ประกอบการ

– สร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพสินค้าที่ตรงตามข้อกำหนด/ความต้องการต่อผู้รับซื้อสินค้า (โรงงานแปรรูป บริษัท ร้านค้าปลีก) ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนจากกระบวนการตรวจสอบ

– เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อบริษัท/ร้านค้า จากการสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ/สวัสดิภาพแรงงาน และสวัสดิภาพสัตว์

3.ผู้บริโภค

– สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและคุณภาพอาหารต่อผู้บริโภค

– การสนับสนุนสินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตของประชากร

4.สังคม

– มาตรฐานความปลอดภัยอาหารจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข

– มาตรฐานแรงงานจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ ความปลอดภัยและปกป้องสิทธิแรงงาน

– มาตรฐานสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนจะช่วยพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ดี ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมทั้งเสริมสร้างการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพ

มาตรฐานเอกชนในสหภาพยุโรป

มาตรฐานเอกชนมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านความปลอดภัยในกระบวนการผลิต การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี และการค้าที่เป็นธรรม (fair-trade) ซึ่งมักพบเครื่องหมาย fair-trade แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์กาแฟ กล้วย โกโก้ ดอกไม้ และพืชที่นำเข้าจากประเทศที่ 3

ภายใต้นโยบาย Green Deal ของสหภาพยุโรป ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขัน ผ่านกฎระเบียบมาตรการ และยุทธศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ปกป้อง และเสริมสร้างการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

การแก้ไขปัญหา การต่อสู้กับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปกป้องสุขภาพและคุณภาพชีวิตประชากรจากความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม

จะส่งผลให้ภาคเอกชนสามารถพัฒนาและบังคับใช้มาตรฐานต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินนโยบายของสหภาพยุโรป และความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งครอบคลุมมาตรการด้านความยั่งยืน สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ สวัสดิภาพแรงงาน และสวัสดิภาพสัตว์

แม้ว่าการบังคับใช้มาตรฐานเอกชน ซึ่งเป็นมาตรฐานสมัครใจ จะก่อให้เกิดประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ในภาพรวม แต่มาตรฐานเอกชนที่มีความเข้มงวดมากเกินไป อาจเป็นภาระและอุปสรรคทางการค้าต่อเกษตรกร หรือผู้ประกอบการรายย่อยอย่างมาก

ดังนั้น รัฐบาล องค์กร สมาคมผู้ผลิต หรือภาคอุตสาหกรรมอาหารอาจพิจารณาติดตามและศึกษาแนวโน้มของมาตรฐานเอกชนใหม่ ๆและความเป็นไปได้ในการปรับใช้ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพ (capacity building) ให้แก่เกษตรกร และผู้ผลิต เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานเอกชนที่ผู้จัดจำหน่ายกำหนด

ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านการตลาด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยในการได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม