เมื่อ ศก.ไทยสำลัก ‘หนี้’

คอลัมน์ สามัญสำนึก 
พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

ได้ยินมาพักใหญ่สุดท้ายแล้ว พอสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ในเดือนตุลาคม รัฐบาลคงหยุดอุ้ม ปล่อยให้เป็นเรื่อง “เจ้าหนี้-ลูกหนี้” คุยกันเอง  ใครสามารถปรับตัวทำให้แบงก์มั่นใจว่ายังมีอนาคต ประคับประคองตัวเองผ่านช่วงเวลานี้ได้ มีโอกาสได้ไปต่อ

ส่วนใคร หรือธุรกิจไหนส่อแววไม่รอด ไม่อยากคิดว่าจะผ่านช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดแบบนี้ เพื่อไปต่อกันได้อย่างไร

ฟังเสียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.ครั้งล่าสุด ส่งสัญญาณถึงเวลาที่สถาบันการเงินต่าง ๆ ต้องเสียสละบ้าง

พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า โควิด-19 นอกจากกระทบต่อการดำเนินชีวิต ขณะเดียวกัน สถานการณ์ต่างประเทศที่ไม่ดีนัก ส่งผลต่อเศรษฐกิจ จำเป็นต้องใช้งบประมาณของภาครัฐ ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม แต่ปัญหาของวันนี้ไม่ได้มีแค่การดำรงชีวิตของประชาชน

นายกรัฐมนตรีชี้ว่า ปัญหาหนักที่สุดตอนนี้ คือ หนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับธนาคารทั้งสิ้น จำเป็นต้องขอความร่วมมือ เพราะไปก้าวล่วงไม่ได้

“หากเราไม่ช่วยกันประเทศชาติคงต้องไปกันทั้งหมด จึงขอฝากไว้ด้วย เพราะทุกคนต่างคาดหวังความช่วยหลือจากรัฐบาล วันนี้จึงขอให้ท่านเริ่มจากการช่วยเสียสละกันบ้าง”

ด้าน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสริมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ แต่ไม่มีอำนาจสั่งการ เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติที่มีความอิสระ ทั้งแบงก์ชาติ สถาบันการเงิน สภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าฯ รู้จักลูกหนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

นายกรัฐมนตรีอยากให้ดำเนินการภายในปีนี้ !!!

ถ้าจะบอกว่า วิกฤตหนี้คือโจทย์ใหญ่และเร่งด่วนของประเทศ ไม่น่าจะไกลเกินความจริง

จากที่ผ่านมาแบงก์ชาติส่งสัญญาณทำนองว่า พักชำระหนี้ ไม่ได้หมายความว่าหนี้จะหายไป สถานการณ์วันนี้แตกต่างจากปี 2540 เพราะยังไม่ได้เป็นหนี้เสีย ถ้าไม่เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่วันนี้ อนาคตก็จะเกิดปัญหากับลูกหนี้และเจ้าหนี้อย่างแน่นอน

รายงานข่าวระบุว่า…ตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดต้องล็อกดาวน์ ยุติกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด มีผู้ขอพักหนี้กับแบงก์ชาติ แบ่งเป็นลูกหนี้รายย่อย 10.97 ล้านบัญชี รวม 3.84 ล้านล้านบาท, เอสเอ็มอี 1.12 ล้านบัญชี รวม 2.14 ล้านล้านบาท, ลูกหนี้ภาคธุรกิจ (corporates) อีก 37,114 บัญชี รวม 0.92 ล้านล้านบาท

รวมทั้งหมดเฉียด ๆ 7 ล้านล้านบาท

สอบถามแวดวงธุรกิจหลังจากเมาหมัดท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีกว่า 9 เดือนเต็ม ๆ จากช่วงแรกที่มองกันว่าการแพร่ระบาดน่าจะถูกจำกัดวงเพียงเฉพาะประเทศจีน แต่สถานการณ์กลับตรงกันข้าม รัฐบาลต้องใช้ยาแรง ล็อกดาวน์ ผ่านมาถึงวันนี้เราควบคุม
โควิด-19 ได้

แต่หนักหนา และลมหายใจรวยรินเต็มที คือ ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะท่องเที่ยว-บริการ

สาหัสสุด ๆ คือเดือนนี้ แนวโน้มอาจกลายเป็น “ตุลามหาโหด” ชัดเจนว่ารัฐบาลไม่มี “ก๊อก 2” ออกมาอุ้ม มีเพียง “ช้อปดีมีคืน” กระตุ้นให้ออกมาใช้จ่าย ซึ่งดูแล้วไม่น่าได้ผลอะไรมากนัก เนื่องจากเงินในกระเป๋าที่หายไป ค้าขายไม่ดีบ้าง ถูกลดเงินเดือน โอทีไม่ได้ สำคัญที่สุดคือ ไม่มั่นใจว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะยืดเยื้ออีกนานแค่ไหน

ยิ่งรัฐบาลโยนเรื่องสินเชื่อ เรื่องหนี้ ให้ไปคุยกับแบงก์ คุยกับสถาบันการเงินเอาเอง ใครที่คิดรอความหวังตรงนี้ แนะนำให้เปลี่ยนความคิดตัวเองใหม่ หาแผน 2 เพื่อช่วยตัวเอง เอาตัวรอดเอง จะดีไม่น้อย

ใคร ๆ ก็รู้ คุยเรื่องสินเชื่อ ยืดหนี้กับแบงก์ ในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้

เข็นครกขึ้นภูเขาชัด ๆ