นิติทัศน์ระบบเศรษฐกิจ สังคมดิจิทัลในประเทศไทย (1)

ภาพประกอบข่าว อิเล็กทรอนิกส์-ดิจิทัล
Photo by Glenn Carstens-Peters on Unsplash
คอลัมน์ ระดมสมอง
ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย

ท่านผู้อ่านเคยสงสัยมั้ยครับว่า ทำไมบ้านเราจึงจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโลกดิจิทัล หรือสังคมออนไลน์มากมายขนาดนี้ แล้วกฎหมายแต่ละฉบับเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ช่วย (หรือฉุด) การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลของประเทศไทยอย่างไรบ้าง

หากท่านสงสัย ขอยืนยันว่าท่านไม่ใช่คนแรกครับ ผู้เขียนขอนำเสนอบทความชุด “นิติทัศน์ของระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล” (Legal Landscape of Digital Economy and Society in 2021 #1) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการทำความเข้าใจกับกฎหมายดิจิทัลไทย ผ่านโครงสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัล ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาทของกฎหมายด้านต่าง ๆ จากมุมมองเชิงกว้าง หรือ big picture นั่นเอง

โครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน แก้ไขปัญหาหรือลดต้นทุนทางธุรกิจ และการดำรงชีวิต รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อรังสรรค์นวัตกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ADVERTISMENT

ในปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นจำนวนมาก เฉพาะกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือกฎหมายแม่บทก็มีเกิน 20 ฉบับแล้ว นี่ยังไม่นับรวมกฎหมายลูกบท เช่น กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือหนังสือเวียน อีกนะครับ

หากพิจารณาจากบทบาท หรือ function ของกฎหมายแต่ละฉบับต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ผู้เขียนเสนอว่าเราสามารถแบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ครับ

1.กฎหมายที่เกี่ยวกับรับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน

ADVERTISMENT

ความสัมพันธ์ในระดับจุลภาคระหว่างประชาชนหรือนิติบุคคลเอกชน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของกลไกทางสังคมและเศรษฐกิจล้วนแต่เป็นความสัมพันธ์ทางกฎหมายทั้งสิ้น ไม่ว่ากิจกรรมทางสังคมหรือเศรษฐกิจนั้น จะเกิดขึ้นแบบซึ่งหน้าหรือผ่านโลกออนไลน์ ความสัมพันธ์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น การกู้ยืม การเช่า การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ

นอกจากนั้น กฎหมายยังมีบทบาทในการกำหนด รับรอง และพิทักษ์สิทธิหรือหน้าที่ที่ประชาชนหรือนิติบุคคลมีต่อกัน ตัวอย่างสำคัญ ได้แก่ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นสิทธิของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินไร้รูปร่างชนิดหนึ่งที่รับรองโดยกฎหมาย

ADVERTISMENT

ดังนั้น กฎหมายพื้นฐานที่สำคัญของประเทศที่ใช้บังคับอยู่กับกิจกรรมต่าง ๆ ในโลกแห่งความจริงมีผลใช้บังคับกับกิจกรรมบนโลกออนไลน์เช่นเดียวกัน ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายคุ้มครองสิทธิไม่ว่าจะเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดและรับรองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

นอกจากนั้น หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนโลกดิจิทัลใดก่อให้เกิดเหตุทางภาษี (tax incident) ประมวลรัษฎากรและกฎหมายจัดเก็บภาษีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายศุลกากรและสรรพสามิต ก็มีผลใช้บังคับกับเหตุทางภาษีเหล่านั้น เป็นหน้าที่ของประชาชน และนิติบุคคลเอกชน ในการเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย

ดังนั้น ความท้าทายของกฎหมายในกลุ่มแรกนี้เป็นเรื่องการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เท่าทัน และสอดคล้องกับบริบทปัจจุบันที่พึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และลดปัญหาการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมาย (regulatory arbitrage)

2.การรับรองผลของนิติกรรมที่กระทำผ่านระบบดิจิทัล

กฎหมายกลุ่มที่สองมีบทบาทเสริมสร้างและต่อยอดในเรื่องที่กฎหมายพื้นฐานในกลุ่มแรกไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของผลทางกฎหมายระหว่างนิติกรรมที่กระทำด้วยวิธีการดั้งเดิม และนิติกรรมที่กระทำผ่านระบบดิจิทัลในบางกรณี กฎหมายพื้นฐานในกลุ่มแรกอาจกำหนดขั้นตอน เงื่อนไข หรือวิธีการที่ไม่สอดคล้องสภาพการณ์ในปัจจุบัน

เช่น การขอเอกสารหลักฐานในรูปแบบกระดาษ หรือการสั่งให้มีการประชุมที่ผู้เข้าร่วมประชุมต้องลงทะเบียนทางกายภาพและประจำอยู่ ณ สถานที่เดียวกัน จึงมีความจำเป็นในการสร้างกลไกทางกฎหมายขึ้นใหม่ เพื่อรับรองและกำหนดมาตรฐานของนิติกรรมที่มีขึ้นด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่ไปกับผลทางกฎหมายที่เกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายพื้นฐาน

กฎหมายที่สำคัญที่สุดในกลุ่มกฎหมายประเภทนี้ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2545 ซึ่งมีสาระสำคัญเพื่อรับรองผลทางกฎหมายของเอกสารหรือการลงนามในเอกสารที่ถูกจัดทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นเมื่อกว่า 18 ปีก่อน แม้ว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงอยู่หลายครั้ง แต่อาจมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ เพื่อทบทวนหลักการสำคัญของกฎหมายและปรับปรุง ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของเทคโนโลยีเพื่อสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลสำหรับอนาคต ซึ่งในเรื่องนี้ผู้เขียนจะนำเสนอแนวคิดในการปรับปรุงกฎหมายในโอกาสต่อไป

นอกจากนั้นยังมี พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยวิธีการแบบปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำด้านเทคนิคของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ซึ่งช่วยลดความไม่แน่นอนและอุปสรรคของการจัดประชุมที่กฎหมายบัญญัติให้มีการประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

อาจกล่าวได้ว่ากฎหมายดิจิทัล 2 กลุ่มแรก เป็นกฎหมายพื้นฐานที่มีจุดประสงค์หลักเป็นการกำหนด รับรอง และพิทักษ์สิทธิและหน้าที่ของประชาชนและนิติบุคคลเอกชนที่เกิดขึ้นบนโลกดิจิทัล สำหรับตอนต่อไป ผู้เขียนจะนำเสนอกฎหมายอีก 3 กลุ่ม ที่มีบทบาทในการสร้างระบบสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลโดยตรงครับ