วิธีการสร้างแรงจูงใจ ลดการสูญเสียอาหาร-อาหารเหลือทิ้ง

ช่วยกันคิด
สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

การประชุมออนไลน์ในหัวข้อ การประชุมสุดยอดระบบอาหาร องค์การสหประชาชาติ 2564 วิธีการสร้างแรงจูงใจ ลดการสูญเสียอาหารและอาหารเหลือทิ้ง (The 2021 United Nations Food Systems Summit : How to Incentivize Food Loss and Waste Reduction) จัดโดย International Food Policy Research Institute หรือ IFPRI สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์ก ประจำกรุงวอชิงตัน สถาบัน World Resource Institute และกลุ่มความร่วมมือ Champions 12.3 บรรยายโดยตัวแทนจากองค์การสหประชาชาติ (UN)

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สถาบัน IFPRI สถาบัน World Resources Institute (WRI) มูลนิธิ WRAP Global กระทรวงอาหารการเกษตรและประมง เดนมาร์ก (The Ministry of Food, Agriculture and Fisheries) บริษัท Coldhubs ประเทศไนจีเรีย และบริษัท Apeel Sciences สหรัฐอเมริกา

วัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายถึงการหาวิธีการที่จะพลิกสถานการณ์ การแก้ไขปัญหาลดการสูญเสียอาหารและอาหารเหลือทิ้งตามเป้าหมาย Sustainable Development Goal 12.3 (SDG 12.3) ซึ่งเป็นความร่วมมือระดับโลกและให้ความเห็นต่อกำหนดการของ UN Food Systems Summit (UNFSS) โดยได้รับเกียรติจาก Mr.Johan Swinnen ตำแหน่ง Director General, IFPRI กล่าวเปิดงานว่า ปัญหาความหิวโหยของประชากรโลกเริ่มได้รับความสนใจอย่างจริงจังอีกครั้งเมื่อปี 2558 หลังพบว่าประชากรโลกหลายพันล้านคนขาดความสามารถในการเข้าถึงอาหารที่มีโภชนาการ และปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นตัวเร่งการสูญเสียอาหารและอาหารเหลือทิ้ง (food loss and waste หรือ FLW)

แต่ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผลักดันให้ทุกภาคส่วนคิดวิธีแก้ไขปัญหานอกกรอบ ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ในการลดปัญหา FLW องค์การ FAO และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ศึกษาว่า ร้อยละ 30 ของอาหารต้องสูญเสียระหว่างการเก็บเกี่ยวหรือเหลือทิ้ง ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงปัญหาการขาดอาหารที่มีโภชนาการและสุขภาพ ทำให้เกิดความพยายามในการหาข้อมูลแก้ไขปัญหา ทางเลือกทางการค้า นโยบายที่ควรปรับใช้ในอนาคต โดย FLW เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิตตลอดทั้งสาย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความสามารถในการเปลี่ยนรูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหา FLW

นอกจากนี้ มีวิทยากรพิเศษ ได้แก่ Ms.Agnes Kalibata ตำแหน่ง UN Secretary General’s Special Envoy to the 2021 Food Systems Summit และ Mr.Rasmus Prehn ตำแหน่ง Minister for Food, Agriculture, and Fisheries ประเทศเดนมาร์ก กล่าวบรรยายโดย Ms.Kalibata เห็นว่าความคิดริเริ่มแก้ไขปัญหา FLW ตามการรณรงค์ Champion 12.3 เป็นสิ่งสำคัญ และควรพิจารณารวมประเด็นของระบบอาหาร เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา การจัดประชุม UN Summit ครั้งนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะจัดการเจรจา แต่ต้องการที่จะดำเนินการตามแผน SDG ให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้

การประชุมนี้จะสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนความเข้าใจที่มีต่อปัญหาและริเริ่มหาแนวทางแก้ไขปัญหา ในปัจจุบันมี 60 ประเทศร่วมลงนามใน Food Systems Dialogue และคาดว่าก่อนปลายปีจะมีผู้เข้าร่วมลงนามมากกว่า 100 ประเทศ ทั้งนี้ เห็นว่าระบบอาหารเป็นปัญหาระดับประเทศที่แต่ละท้องถิ่นจะมีปัญหาเฉพาะตน ดังนั้น เมื่อพิจารณาปัญหาที่เกิดในท้องถิ่นตน แล้วควรนำมาแลกเปลี่ยนหารือและดำเนินการแก้ไขปัญหาและติดตามผลร่วมกัน UN มีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ และมีเครือข่ายกลุ่ม Champion สนับสนุนช่วยเป้าหมายสูงสุด คือ ทำให้ FLW กลายเป็นศูนย์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน การจับคู่ทางธุรกิจระหว่างเกษตรกรและภาคเอกชนที่ต้องการสินค้านั้น ๆ โดยตรง

ในส่วนของ Mr.Prehn เห็นว่า การแก้ไขปัญหา FLW ต้องแสวงหาความสมดุลระหว่างสุขภาพและคุณภาพของอาหาร รวมทั้งพิจารณาวิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากฟาร์ม รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคของประชากร อย่างไรก็ตาม การเกิดโควิด-19 สร้างความท้าทายต่อระบบอาหารทั่วโลก ส่งผลให้เกิดความหิวโหยตามมา ดังนั้น สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องแก้ไข คือ สร้างให้โลกมีความปลอดภัยมากขึ้น ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น และมีความยั่งยืนมากขึ้น โดยทุกองค์กรต้องร่วมมือกัน

ทั้งนี้ จะมีการจัดงาน World Food Summit ระหว่างวันที่ 15-16 เมษายน 2564 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก จุดประสงค์เพื่อพลิกสถานการณ์หานวัตกรรมที่จำเป็นต่อการแปลงโฉมของระบบอาหารให้มีความยั่งยืน

ทั้งนี้ การเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นความท้าทายในระบบอาหาร โดย 1 ใน 3 ของอาหารสูญเสียและเหลือทิ้ง และ FLW ยังเป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นปัญหาที่เดนมาร์กต้องการแก้ไข และตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 70 ภายในปี 2573 โดยสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาใหม่และมีประสิทธิภาพร่วมกัน ในปี 2563 หนึ่งในสามของสถาบันคลังสมอง (Think Tank) ถูกก่อตั้งในประเทศเดนมาร์ก มีเป้าหมายแก้ปัญหา FLW คิดค้นผลิตภัณฑ์และสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน

วิธีการแก้ไขปัญหา FLW ของภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศ การประชุมดังกล่าวได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นและวิธีการของภาคเอกชนและองค์กรที่ได้ดำเนินการเพื่อรับมือกับปัญหา FLW จาก 4 องค์กร ดังนี้

– บริษัท Coldhubs ไนจีเรีย พัฒนาระบบรักษาความเย็นในห้องเก็บสินค้าผัก ผลไม้ โดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดการเน่าเสียของสินค้าผัก ผลไม้ เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการค้นคว้าด้านเทคโนโลยีใหม่ แนวปฏิบัติใหม่ด้านการเก็บเกี่ยวและบรรจุสินค้าที่จะรักษาคุณภาพและสารอาหาร

– บริษัท Apeel Sciences สหรัฐอเมริกา พัฒนาผลิตภัณฑ์สารเคลือบผักผลไม้ที่รับประทานได้โดยใช้เคลือบหลังจากการเก็บเกี่ยวช่วยให้สินค้าคงความสดใหม่ได้นานเพิ่มเป็น 2 เท่า และลดการสูญเสียสารต้านอนุมูลอิสระ ปัจจุบันมีการใช้สารเคลือบดังกล่าวกับอโวคาโด ส้ม มะนาว และแอปเปิล ได้ทำความร่วมมือกับบริษัทจัดซื้อผลไม้ของประเทศในแถบอเมริกาใต้ สหรัฐ ยุโรป ผู้นำเข้า และร้านค้าปลีกทั้งในสหรัฐและยุโรป ผลิตภัณฑ์สารเคลือบดังกล่าวจะติดอยู่กับสินค้าตลอดอายุสินค้า ช่วยลดปัญหา FLW

– มูลนิธิ WRAP Global ตั้ง 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ (1) ภายในปี 2573 จะมีประเทศกว่า 150 ประเทศเข้าร่วมการรณรงค์ที่เป็นการสร้างความร่วมมือระดับชาติระหว่างภาครัฐและเอกชน ลดการเกิด FLW ร้อยละ 50 จะต้องมีการปรับใช้กลยุทธ์และแผนแม่บทในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลก

(2) สร้างความเข้าใจ แรงจูงใจในกลุ่มคนรากหญ้าให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะไม่ทิ้งอาหาร และใช้สื่อสังคมออนไลน์ประชาสัมพันธ์ข้อมูลดังกล่าว (3) ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ส่งเสริมออกระเบียบ กฎหมาย หรือการเก็บภาษีในพื้นที่ฝังกลบที่มีการทิ้งอาหาร และส่งเสริมให้นำอาหารเหลือแปลงเป็นอาหารสัตว์

– องค์กร FAO ระบุว่า ปัจจุบันอาหารร้อยละ 14 สูญเสียไประหว่างการเก็บเกี่ยวในขณะที่อาหารร้อยละ 17 เหลือทิ้งจากการบริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ FAO เสนอ คือ ควรเริ่มดำเนินการกับห่วงโซ่การผลิตในประเทศกำลังพัฒนาเป็นอันดับแรก พัฒนากระบวนการผลิต ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งจะประสบความสำเร็จได้หากลดการสูญเสียผลผลิตระหว่างการเก็บเกี่ยว และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะลดได้มากหากมีการลดการทิ้งอาหาร


นอกจากนี้ ยังได้เสนอข้อควรปฏิบัติ คือ ให้ความสำคัญกับการวางแผนธุรกิจที่สนับสนุนการแก้ปัญหา FLW ตรวจสอบนโยบายว่ามีการสนับสนุนให้เกิดการสูญเสีย อาหารและทิ้งอาหารโดยไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ข้อมูล สถิติ และคำชมเชย สร้างอิทธิพลต่อการเลือกของผู้บริโภค และดำเนินการร่วมกันทั้งกับประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา