ฟื้นฟู “การบินไทย” นโยบายต้องไม่โลเล

การบินไทย
บทบรรณาธิการ

วันประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย ในวันที่ 12 พ.ค. 2564 ใกล้เข้ามา ยิ่งเห็นสัญญาณว่ากระบวนการฟื้นฟูกิจการสายการบินแห่งชาติภายใต้ศาลล้มละลายกลางไม่ได้เป็นไปราบรื่น อีกทั้งมีปัญหาหลายเรื่อง

เพราะใกล้ครบกำหนดวันที่เจ้าหนี้่จะต้องโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ มีอีกหลายประเด็นที่สถาบันการเงินโดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหนี้รายใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญไม่เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการ ที่ผู้ทำแผนจัดทำขึ้น

จากที่ต้องยื่นศาลล้มละลายกลางขอเลื่อนระยะเวลานำส่งแผนฟื้นฟู บมจ.การบินไทย จากเดิมวันที่ 2 ม.ค. 2564 เป็นวันที่ 2 ก.พ. 2564 เนื่องจากทีมผู้จัดทำแผนมีความเห็นไม่ตรงกัน แม้สุดท้ายสามารถยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ได้ทันตามกำหนด

แต่ยังต้องลุ้นว่าก่อนถึงวันต้องโหวตลงคะแนนการปรับแก้แผนฟื้นฟูในประเด็นที่เจ้าหนี้ไม่เห็นด้วยจะได้ข้อยุติอย่างไร

ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในส่วนของเจ้าหนี้ที่ต้องการให้ปรับแก้ไขแผนเท่านั้น แม้แต่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.การบินไทย 47.86% ก็ไม่ชัดเจนว่า จะดำเนินการอย่างไรในการฟื้นฟูองค์กรแห่งนี้ โดยเฉพาะเงื่อนไขการใส่เงินเพิ่มทุน หรือการค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย 2.5 หมื่นล้านบาท ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

นอกจากนี้ มีอีกหลายประเด็นที่รัฐบาลต้องเร่งตัดสินใจ อย่างล่าสุด เจ้าหนี้รายใหญ่สถาบันการเงินนำโดยธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ยื่นข้อเสนอขอแก้แผนฟื้นฟูขอมีส่วนร่วมในการบริหาร และให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้เงิน 5 หมื่นล้านบาท ที่ บมจ.การบินไทย ต้องเพิ่มทุนภายใน 2 ปี สำหรับนำมาใช้หมุนเวียนในกิจการ

และจากที่เจ้าหนี้สถาบันการเงินบ่ายเบี่ยง ต่อรอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงกรณีต้องใส่เงินเพิ่ม ทำให้กระทรวงการคลังนำเสนอแนวทางพลิกสถานะการบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง แม้เป็นการโยนก้อนหินถามทางแต่ถูกคัดค้าน เพราะการกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจของการบินไทย ซึ่งหนี้สินล้นพ้นตัวกว่า 3 แสนล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก เป็นภาระทั้งกับรัฐบาล และเงินภาษีประชาชน

สารพัดปมปัญหาที่ต้องหาข้อยุติให้ได้ เคลียร์ให้จบ ก่อนวันดีเดย์จัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟู บมจ.การบินไทย รัฐบาล กับกระทรวงการคลัง จึงต้องตัดสินใจให้ชัดว่า จะชี้ชะตาอนาคตสายการบินแห่งชาติไปทางไหน ส่วนรวมและประเทศชาติจึงจะได้มากกว่าเสีย

ที่สำคัญ ต้องไม่กลับไปกลับมาเหมือนเล่นขายของ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็เสี่ยงที่การฟื้นฟูกิจการจะล่มตั้งแต่ไม่ทันได้เริ่ม