โควิด…สถิติที่ต้องบันทึก (ถึงไม่อยากบันทึก)

โควิด
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

กษมา ประชาชาติ

ผ่านมา 1 ปี ที่ “โควิด” เดินทางเข้ามาในชีวิตพวกเราทุกคน

ที่ไม่เคยคิดว่า หนังซอมบี้ล้างโลกที่เคยดูมันอาจจะเกิดขึ้นในชีวิตเราจริง ๆ ก็เป็นจริง

โควิดเข้ามาสร้างสถิติใหม่ให้ชีวิตเราหลายอย่าง อาทิ

สถิติการข้ามงานสงกรานต์ 2 ปี (ปี 2563-2564)

สถิติการทำงานจากบ้าน (work from home) แบบ 100% ครั้งแรก

สถิติการสะสมหน้ากากอนามัย ประกันชีวิต เจลล้างมือ สูงสุดเป็นประวัติการณ์

บางคนถึงขั้นมีสถิติส่วนตัว เช่น “เจ้าแม่นาคี” ทำสถิติผ่านโควิดได้ถึง 6 รอบ จนสามารถทำเหรียญ เจ้าแม่นาคี รุ่นวีรสตรีต้านโควิด เป็นครั้งแรก

ไม่เพียงเท่านั้น โควิดทำให้ “ไทย” สร้างสถิติใหม่ หลังจากการกลับมาระบาดหนักเป็นระลอกที่ 3 มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น “2,839 ราย” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 24 เมษายน 2564

จากที่เมื่อ 3 เดือนก่อนหน้านี้ (ม.ค. 2564) ไทยเพิ่งจะดีใจกับสถิติท็อปอันดับ 4 ของโลก ในการรับมือโควิด-19 ได้ดีที่สุด รองจากอันดับ 1 คือ นิวซีแลนด์ เวียดนาม และไต้หวัน สถิตินี้จัดโดย Lowy Institute ในออสเตรเลีย

ซึ่งด้วย “สถิติจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มทะลุ 2 พันคน ยังพ่วงมาด้วย สถิติใหม่ นั่นคือ การที่มีผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 60,000 คน แซงสิงคโปร์ขึ้นอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศอาเซียน (จากเฟซบุ๊กอาจารย์ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี) รองจากอินโดนีเซีย ที่มีผู้ติดเชื้อสะสม 1.65 ล้านคน, ฟิลิปปินส์ มีผู้ติดเชื้อ 1.02 ล้านคน มาเลเซีย 401,593 คน และเมียนมา 142,790 คน

และหากดูสถิติเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดในวันเดียวกันนั้นจะพบว่า ไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มถึง 15 คน เป็น “อันดับ 3” ในอาเซียน เท่ากับมาเลเซีย และเป็นรองจากอินโดนีเซียเบอร์ 1 เสียชีวิตเพิ่ม 177 คน ฟิลิปปินส์ เสียชีวิต 115 คน

เท่านั้นยังไม่พอ

“ไทยยังมีสถิติรั้งท้ายตาราง” ของประเทศที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก จากข้อมูลของ Our World in Data วันที่ 7 เมษายน 2564 คิดเป็นสัดส่วนการฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากร 0.36% เทียบกับเบอร์ 1 โลก คือ อิสราเอล 60.98%
อังกฤษ 46.52% สหรัฐ 32.15% สิงคโปร์ 17.95% และฝรั่งเศส 13.64%

หากเทียบเฉพาะสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่ดูแลปัญหาการระบาดได้ดี มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ดีที่สุดในอาเซียน ถึง 17.95% จะพบว่าในวันที่ยอดผู้ติดเชื้อของไทยสูงสุด สิงคโปร์เริ่มนิ่ง มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 61,086 ราย แต่สามารถรักษาจนกลับบ้านได้แล้ว 60,704 ราย เหลือที่ยังรักษาตัวอยู่เพียง 352 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยมากมีเพียง 30 รายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ยังนับว่าน่าดีใจที่สถิติการฉีดวัคซีนของไทยยังก้าวหน้าไปมากกว่า “เวียดนาม” ที่ฉีดได้เพียง 0.05% ของประชากร เวียดนาม 97.9 ล้านคน หรือประมาณ 48,950 คน ขณะที่ไทยฉีดได้ 0.36% จากประชากร 70 ล้านคน หรือ 252,000 คน

ตัวเลขการฉีดวัคซีนสะท้อนถึง “ปัญหาคอขวดการจัดหาและการกระจายวัคซีน” ว่ายังเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

โดยเป้าหมายรัฐบาลระบุว่า “วัคซีน” จะต้องมาถึงเมืองไทย 100 ล้านโดส ให้ครบในไตรมาส 4 เพื่อฉีดให้ได้สัดส่วน 70% ของจำนวนประชากร

คำถามคือ กระบวนการจัดหาและกระจายวัคซีนนั้นต้องทำอย่างไร

แน่นอนว่ารัฐบาลมีแผนจัดหาวัคซีนบนกระดาษเรียบร้อยแล้ว ตามที่ ศบค.ประกาศ คือ ประเทศไทยซื้อวัคซีนไปแล้ว 63 ล้านโดส ยังเหลือต้องจัดหาเพิ่มอีก 37 ล้านโดส มาเพิ่ม

โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอการจัดหาวัคซีนโควิด-19 หลากหลายชนิด หลากหลายราคา อาทิ วัคซีน Pfizer Biotech 5-20 ล้านโดส, วัคซีน Sputnik V 5-10 ล้านโดส วัคซีน Johnson & Johnson 5-10 ล้านโดส วัคซีน Sinovac 5-10 ล้านโดส นอกจากนั้น ยังมีวัคซีนอื่น เช่น Moderna Sinofarm Bharat หรืออื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม จากผลการประชุมที่นายกรัฐมนตรีหารือร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ยืนยันกับภาคเอกชนว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอสำหรับจ่ายค่าวัคซีน-มีอีกหลายยี่ห้อกำลังเจรจา-ยังสรุปไม่ได้ว่าราคาเท่าไร

และขอให้ “เอกชน” ช่วยร่วมทีมไทยแลนด์ เตรียมพื้นที่ฉีดวัคซีน ส่วนหน้าที่จัดหาให้เป็นขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพราะการซื้อเป็นดีลที่จะทำรัฐต่อรัฐ และความรับผิดชอบในการฉีดเป็นของรัฐบาล

แต่จนแล้วจนรอดก็ยังมีคำถามจากสังคมถึงรัฐบาลว่า “หน้าที่” จัดซื้อวัคซีนควรเปิดกว้าง ไม่ควรผูกขาดหรือไม่ หากจะปลดล็อกคอขวดการนำเข้าให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ บางรายตั้งข้อสังเกตถึงประโยชน์แฝงจากการเป็นผู้นำเข้าวัคซีนบางยี่ห้อจากจีน

ขณะที่ในฝั่ง “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็ยังออกมายืนยันว่าจะเดินหน้าจัดหาและนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิดเข้ามาตามแผนเดิมต่อไป

พร้อมย้ำว่า “ส.อ.ท.ได้รับการสื่อสารจากภาครัฐว่านโยบายการจัดหาวัคซีนได้เปิดกว้างให้เอกชนนำเข้าได้” และยังได้รับคำยืนยันจากสถาบันวัคซีนด้วยว่า คำยืนยันว่าผู้นำเข้าต้องเป็นเจ้าของสินค้าเป็นผู้กระจายสินค้า (distributor) อยู่ในธุรกิจจัดจำหน่าย ซึ่งจะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ท่าที 2 องค์กรเอกชน ยังทำให้สังคมสงสัย และหากยิ่งรัฐบาลไม่ชัดเจน ปัญหานี้จะลุกลามเป็นไฟลามทุ่ง เพราะวัคซีนได้ชื่อว่าเป็นยาวิเศษที่จะมาเสริมสร้างความมั่นใจทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น หากวัคซีนมาช้า รักษาเศรษฐกิจไม่ทัน ไทยก็อาจจะมี “สถิติใหม่” เป็นสถิติหนี้ NPL และสถิติบัณฑิตเตะฝุ่นอีก 5 แสนคน