โรคแห่งความโดดเดี่ยว กับความสิ้นหวังของผู้คน

ชั้น 5 ประชาชาติ
อำนาจ ประชาชาติ

โควิดระลอก 3 น่ากลัวกว่าระลอกที่ผ่าน ๆ มา เนื่องจากสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว เกิด “คลัสเตอร์” ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง (โคม่า) และจำนวนผู้เสียชีวิตก็พุ่งมากกว่า 2 ระลอกแรกอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังเห็นภาพที่ผู้ติดเชื้อหลายราย ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการติดต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล กระทั่งบางรายต้องเสียชีวิต เพราะได้รับการรักษาช้าเกินไป

สะท้อนว่า ระบบสาธารณสุขกำลังจะรับมือไม่ไหวแล้ว เพราะมีเคสผู้ป่วยอาการหนักมากเกินไป

ขณะที่ผู้เสียชีวิต นอกจากคนธรรมดาทั่ว ๆ ไป ยังมีบุคคลมีชื่อเสียงด้วย แถมยังเป็นนักแสดงตลกที่เคยสร้างเสียงหัวเราะให้ผู้คน จึงยิ่งสร้างความสะเทือนใจให้กับคนในสังคมมากขึ้นไปอีก

นอกจากความรุนแรงของโรคที่ทำให้เสียชีวิตได้แล้ว โควิดยังเป็นโรคที่โหดร้ายอย่างมาก เพราะทำให้คนป่วยจำนวนไม่น้อยต้องโดดเดี่ยว โดยเฉพาะผู้ที่อาการค่อนข้างหนัก

ทั้งต้องเข้ารับการรักษาแบบโดดเดี่ยว และหากเสียชีวิต ก็ยังต้องตายไปแบบโดดเดี่ยวอีก ลูกหลาน ญาติมิตร ไม่สามารถเข้าไปกอดร่ำลาเป็นครั้งสุดท้ายได้ แถมการประกอบพิธีศพก็ยังไม่สามารถจัดการได้แบบวิถีปกติ ต้องแสดงความอาลัยกันอยู่ห่าง ๆ

ไม่เพียงผู้ติดเชื้อโควิดที่ต้องรู้สึกโดดเดี่ยวเท่านั้น ช่วงนี้หากใครเจ็บป่วยจนต้องแอดมิตนอนโรงพยาบาล ก็ต้องโดดเดี่ยว ขาดกำลังใจไปด้วย เพราะทางโรงพยาบาลก็ต้องป้องกันการระบาด โดยมีมาตรการ “ห้ามเฝ้า” “ห้ามเยี่ยม” อย่างเข้มงวด

หลายชีวิตจึงต้องจากไปแบบโดดเดี่ยว ไม่แพ้ผู้เสียชีวิตจากโควิดเช่นกัน

ส่วนเมื่อมองไปที่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ รอบนี้ รัฐบาลไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์เหมือนปีก่อน แต่ใช้การห้ามบางส่วน และการขอความร่วมมือเป็นหลัก

มาตรการที่เข้มข้นสุด ดูเหมือนจะเป็นการห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน ในพื้นที่จังหวัด “สีแดงเข้ม”

ทำให้อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยจำนวนมากจะไปต่อกันไม่ไหว อาจต้องเห็นการล้มหายตายจากอีกมาก

เพราะลำพัง 2 ระลอกแรก ก็กล้ำกลืนกันอยู่แล้ว ระลอก 3 เหมือนถูกกระทืบซ้ำ ตรงแผลเก่าที่ยังไม่ทันหาย แบบนี้จะรอดไปได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบเต็ม ๆ เพราะการระบาดแต่ละรอบ ล้วนมีแต่ช่องว่างช่องโหว่การทำงานของภาครัฐมาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคลัสเตอร์สนามมวย, คลัสเตอร์สมุทรสาครที่มาจากการลักลอบเข้าเมือง, คลัสเตอร์บ่อน, คลัสเตอร์ผับบาร์ ฯลฯ

และที่สำคัญที่สุด ที่รัฐบาลปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ คือ การจัดหาวัคซีนและการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ที่มีแต่ความล่าช้า ไม่ทันการณ์ แถมกระบวนการจัดหาวัคซีนยังสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับประชาชน เกี่ยวกับการเลือกยี่ห้อวัคซีน ไล่มาจนถึงการล้มกระดานให้เอกชนจัดหาวัคซีนทางเลือกอีก

สิ่งเหล่านี้ แม้จะดูเป็นแค่เรื่องการบริหารจัดการโรคระบาด แต่หากมองให้ลึกลงไป มันคือปัญหาโครงสร้างสังคมไทย ที่เต็มไปด้วยโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ที่ตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างยิ่งยวดให้กับผู้คนในสังคมไทย

ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมคนจำนวนไม่น้อยจึงฝันอยากไปอยู่ต่างประเทศกัน นั่นก็เป็นเพราะพวกเขารู้สึกสิ้นหวังนั่นเอง