งบฯเงินกู้…ละลายแม่น้ำ ?

เงินบาท-ธนบัตร
REUTERS/Athit Perawongmetha/File Photo
คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ
ณัฐวุฒิ ประชาชาติ

โควิด-19 ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกต้อนเข้ามุมอับการเมือง เพราะมีหลายสารพัดปัญหารุมเร้า

7 ปี บนเก้าอี้ผู้นำสูงสุด อาจกล่าวได้ว่า วิกฤตโควิด-19 ทำแต้มนิยม ศรัทธาที่มีต่อ “นายกฯลุงตู่” ช่วงเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 หดหายไประหว่างทางอำนาจ

พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญปัญหาควบคุมการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ที่ยอดอัตราการระบาดยังอยู่ที่ 2-3 พันรายต่อวัน และยอดผู้เสียชีวิตแต่ละวัน ก็ทำให้คนไทยหายใจไม่ทั่วท้อง

ปัญหาการสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับประชาชน สร้างความสับสนอลหม่าน แผนกระจายวัคซีนที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ ศบค.ต้องรื้อใหม่ ส่งผลให้แอปพลิเคชั่น “หมอพร้อม” ที่เป็น “เรือธง” ให้ประชาชนมาลงทะเบียนฉีดวัคซีน ต้อง “ชะลอการใช้บริการ”

แต่เรื่องหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม คือ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยมีกรอบวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท

เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในวันข้างหน้า เพราะยังไม่รู้ว่าวิกฤตโควิดระลอก 3 จะสิ้นสุด ณ จุดใด

เงิน 5 แสนล้าน ถูกแบ่งใช้เป็น 3 ก้อน ก้อนแรก 3 หมื่นล้านบาท ใช้เป็นงบฯด้านสาธารณสุข เช่น จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ วัคซีน การพัฒนาวัคซีนในประเทศ และปรับปรุงโรงพยาบาลสนาม

ก้อนที่สอง 3 แสนล้านบาท ใช้เยียวยา-ชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ก้อนที่สาม 1.7 แสนล้านบาท ใช้เป็นโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น โครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ กระตุ้นการลงทุน และการบริโภค ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรับผิดชอบโดยกระทรวงการคลัง-หน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

แต่กลายเป็นว่า นักการเมืองทั้งซีกพรรคฝ่ายค้าน-พรรคร่วมรัฐบาล พร้อมใจออกมาแสดงความเป็นห่วง ถึงศักยภาพ-ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของรัฐบาล โดยเฉพาะการเบิกจ่ายเพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบ

เพราะย้อนไปในวันที่ 18 เมษายน 2563 รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก. ที่ใช้แก้ปัญหาโควิด 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท แต่ พ.ร.ก.ที่ใช้เยียวยาประชาชน ถูกใช้ภายใต้ชื่อว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

ที่รู้จักกันในชื่อ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน

เพื่อไทยวิเคราะห์ว่า ผ่านไป 1 ปี มียอดการเบิกจ่ายจริงหรือเม็ดเงินลงสู่ระบบน้อยมาก มีเม็ดเงินลงสู่ระบบราว 637,000 ล้านบาท จากยอดรวม 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นเพียงราว 34% เท่านั้น

ก้าวไกล สรุปการใช้เงินกู้ผ่านไป 1 ปีว่า แทบไม่เห็นความแตกต่างทางเศรษฐกิจว่าจะทำให้ประเทศพ้นจากวิกฤตได้อย่างไร หลายโครงการการเบิกจ่ายเป็นศูนย์ เช่น งบประมาณที่ส่งไปให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คนฝ่ายรัฐบาลในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบการใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็ยอมรับว่า

“ปัญหาการเบิกจ่ายเงินกู้โควิด-19 ล่าช้า ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เป็นส่วนของงบฯฟื้นฟู ยังติดปัญหาอยู่อีกประมาณ 1 แสนล้านบาท เพราะติดขั้นตอนตามปกติของราชการ หลายเรื่องเกี่ยวข้องกับระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งโครงการแบบนั้นเรามีประสบการณ์แล้ว เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ใช่ในลักษณะแบบนั้น”

“ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนว่า 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราได้เรียนรู้แล้วว่าอุปสรรคของการเบิกจ่ายงบประมาณ คือ มีคอขวด การกลั่นกรองและอนุมัติโครงการล่าช้า และประชาชนได้รับการเยียวยาช้ามาก

ข้อวิจารณ์จากฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน หากตัดความรู้สึก อคติด้าน “การเมือง” ออกไป จะพบว่า ทุกฝ่ายกำลังกังวลเรื่องการบริหารจัดการเงินกู้โควิดทั้งสองรอบ

เพราะบทเรียน 1 ปี จากเงินกู้ 1 ล้านล้าน สู่กฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้าน ปัญหาที่ทุกฝ่ายเห็นปัญหาตรงกันมากที่สุด คือ โครงการฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจ มีปัญหาการเบิกจ่ายล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ และไม่ได้แก้ปัญหาอย่างตรงจุด ทั้งที่งบฯดังกล่าวควรทำให้ประเทศหลุดพ้นจากภาวะวิกฤต


เพราะสุดท้าย ภาระหนี้ก็เป็นของประชาชนตาดำ ๆ ที่ต้องแบกรับ อย่าให้เป็นงบประมาณที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ…