กรณีตัวอย่างประเทศชิลี ฉีดวัคซีนแล้ว COVID ยังระบาดได้

Healthy Aging
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

 

ประชาชนคนไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯกำลังใจจดใจจ่อเร่งหาที่ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ตามนโยบาย “วาระแห่งชาติ” ของรัฐบาล โดยส่วนสำคัญส่วนหนึ่งคือการเชื่อว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้การระบาดของ COVID-19 ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ประสบการณ์ที่ประเทศชิลีโดยเฉพาะที่เมืองหลวง คือ กรุง Santiago ซึ่งมีประชากรประมาณ 8 ล้านคน (จำนวนประชากรใกล้เคียงกับ กทม.และจังหวัดรอบข้าง) นั้น พบว่าฉีดวัคซีนไปได้อย่างทั่วถึงแล้ว แต่ COVID-19 ก็ยังระบาดไม่หยุด ทำให้ต้องประกาศ lockdown เมืองหลวงอีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น ผมจึงขอนำเอาประสบการณ์ของประเทศชิลีมาเขียนถึงในครั้งนี้

ประเทศชิลีนั้นถือว่าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของ COVID-19 กล่าวคือ เป็นประเทศที่มีประชากรเพียง 19 ล้านคน (ไม่ถึง 1/3 ของประชากรของประเทศไทย) แต่มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 1.47 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคนี้ไปแล้ว 30,579 คน

ซึ่งจำนวนผู้ที่ติดเชื้อสะสมนั้นมากกว่าประเทศไทยกว่า 7 เท่าตัว และจำนวนผู้เสียชีวิตก็มากกว่าประเทศไทย 20 เท่าตัว (เทียบกับตัวเลขถึงกลางเดือนมิถุนายน 2021)

จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจาก COVID-19 ในประเทศชิลีนั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม แต่ในกรณีของประเทศไทยนั้นสัดส่วนผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ระดับประมาณ 1% (แต่ของไทยนั้นตัวเลขนี้กำลังปรับตัวสูงขึ้น)

ถ้าถามว่าทำไม COVID-19 จึงระบาดหนักอย่างมากเช่นนี้ ก็ต้องตอบว่าไม่สามารถจะไปโทษชิลีว่าฉีดวัคซีนได้น้อยหรือช้าเกินไป

เพราะชิลีนั้นได้รับคำชื่นชมจากทั้งธนาคารโลก (WB) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง โดยมีสถิติที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.ได้ฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 23 ล้านโดส เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากร 19 ล้านคน

2.ดังนั้น ประชากรประมาณ 58% จึงฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว และ 75% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส

3.ได้มีการเร่งปูพรมฉีดวัคซีนเมื่อประมาณ 3 เดือนก่อนหน้าประมาณ 270,000 โดสต่อวัน ขณะนี้เหลือ 137,000 โดสต่อวัน เพราะมีประชาชนเหลือให้ฉีดวัคซีนจำนวนไม่มากนัก

4.วัคซีนที่ฉีดไปแล้วส่วนใหญ่ คือ Sinovac รวมทั้งสิ้น 17 ล้านโดส ตามด้วย Pfizer 4.6 ล้านโดส และ AstraZeneca 700,000 โดส กับ CanSino อีก 300,000 โดส ทั้งนี้ ชิลีซื้อวัคซีนทั้งหมดรวม 40 ล้านโดส และเพิ่งอนุมัติให้ใช้วัคซีนแบบ 1 โดสของ Johnson & Johnson

ผมนำข้อมูลดังกล่าวมานำเสนอเพื่อให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงนั้นอาจจะไม่ใช่คำตอบในการยุติการระบาด ตรงกันข้ามรัฐบาลชิลีเพิ่งประกาศการ lockdown เมืองหลวงคือกรุง Santiago อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2564 ตั้งแต่เวลา 05.00 น.เป็นต้นไป (ไม่เห็นข่าวว่าจะ lockdown ไปนานเพียงใด)

สาเหตุเพราะพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เฉลี่ยจำนวนผู้ที่ติดเชื้อใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาสูงกว่า 7,000 รายต่อวัน (7,941 รายในวันที่ 12 มิถุนายน)

ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศและประชาชนที่ได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว สาเหตุที่ต้อง lockdown ก็เพราะว่าจำนวนผู้ป่วยและมีอาการหนักเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนกระทั่งจำนวนเตียงในห้อง ICU ของกรุง Santiago เหลือเพียง 30 เตียงเท่านั้น

ผู้สังเกตการณ์ประเมินว่า การที่เกิดการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมากนั้น เป็นผลมาจากการที่ประชาชนการ์ดตก ลดความระมัดระวังลง และรัฐบาลเองก็ต้องการให้เปิดเศรษฐกิจ แต่ในความเห็นของผมนั้นหากพิจารณาตัวเลขที่เกี่ยวข้องของชิลีดูอย่างละเอียดก็น่าจะทำให้เข้าใจว่า ทำไมประชาชนจึงการ์ดตก และรัฐบาลจึงเปิดประเทศ

กล่าวคือ หากประเมินว่าผู้ที่ติดเชื้อไปแล้วจำนวน 1.47 ล้านคน คือคนที่มีภูมิคุ้มกัน COVID-19 ไปแล้ว ก็จะเห็นว่าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7.7% ของประชากรเข้าไปแล้ว และเมื่อบวกกับประชากรอีก 58% ที่ได้รับวัคซีนแล้วครบ 2 โดส ก็จะรวมกันได้เท่ากับ 58+7.7 = 65.7% หรือใกล้เคียงกับสัดส่วนที่เชื่อว่าประชากรน่าจะได้รับความคุ้มครองหมู่ (herd immunity) ไปแล้ว

นอกจากนั้น ก็ยังมีอีกประมาณ 17% ของประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 โดส จึงน่าจะวางใจได้ว่าการแพร่เชื้อน่าจะอยู่ในวงที่จำกัดอย่างมาก

ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นในส่วนหนึ่ง เพราะจากจำนวนผู้ที่ติดเชื้อวันละกว่า 7,000 คนนั้น กระทรวงสาธารณสุขของชิลีแจ้งว่า 73% เป็นผู้ที่ได้ฉีดวัคซีนเพียง 1 โดส หรือยังไม่ได้ฉีด

นอกจากนั้น ก็ยังพบว่าผู้ที่การ์ดตกนั้นส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ที่ยังอายุค่อนข้างน้อย คือ 74% อายุ 49 ปี หรือต่ำกว่า

อีก 2 ข้อสังเกตที่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ คือ สายพันธุ์ของโคโรน่าไวรัสที่แพร่ระบาดในชิลีนั้น คือ สายพันธุ์ P1 ของบราซิล หรือที่มีชื่อใหม่ว่าแกมมา (Gamma) ไม่ใช่สายพันธุ์อังกฤษ (B117) ที่มีชื่อใหม่ว่า อัลฟ่า (Alpha) หรือสายพันธุ์อินเดีย (B1617) ที่มีชื่อใหม่ว่า เดลต้า (Delta) ข้อสังเกตข้อที่ 2 คือ ชิลีนั้นใช้วัคซีน Sinovac เป็นหลัก

ประสบการณ์ของชิลีจึงทำให้ผมมองว่า การเร่งฉีดวัคซีนนั้นอาจไม่ได้ผลในการชะลอการระบาดอย่างชะงักงันได้ดังที่หลายคน (รวมทั้งคนในรัฐบาล) คาดหวังเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกนั้นยิ่งน่าจะให้ผลในการป้องกันการติดเชื้อที่ไม่สูงมากนัก

นอกจากนั้น การฉีดวัคซีน AstraZeneca ของไทยนั้นก็มีจำนวนที่จำกัดเกินกว่าที่คาด ทำให้ต้องเว้นระยะรอโดสที่ 2 นานถึง 16 สัปดาห์ ซึ่งแม้บอกว่าจะทำให้โดส 2 กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง แต่ช่วงที่รอเวลานานถึง 16 สัปดาห์นั้น ย่อมมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้มากขึ้นกว่าการเร่งฉีดโดสที่ 2 ภายใน 8-12 สัปดาห์ตามคำแนะนำล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ

ดังนั้น การจะต้องระวังตัวต่อไปและผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจจึงน่าจะยืดเยื้อไปกว่าที่บางคนคาดการณ์ครับ