ประยุทธ์ ยุบสภา-ลาออก ?

ประยุทธ์ ยุบสภา-ลาออก ?
คอลัมน์ สามัญสำนึก
อิศรินทร์ หนูเมือง

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมลาออกหรือยุบสภา จะเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษที่นายกรัฐมนตรีพ้นจากเก้าอี้เพราะไม่สามารถบริหารประเทศในภาวะวิกฤตได้

นายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 5 คนในช่วงที่ผ่านมา ล้วนจำใจต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุการณ์ม็อบการเมือง และ 3 ใน 5 คนพ้นจากตำแหน่งเพราะผลแห่งคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์มีผนังทองแดงกำแพงเหล็ก อันประกอบเข้าด้วยขุนพล 4 เหล่าทัพ มหาอำมาตย์เก่า-ใหม่ นายทุนใหญ่ และฐานที่มั่นในรัฐสภาที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ อีกทั้งยังมีวุฒิสมาชิกอีก 250 เสียงหนุนแน่นอย่างมั่นคง

อีกทั้งยังมีเงินกู้เพื่อการแก้ปัญหามากถึง 2.4 ล้านล้านใช้จ่ายเพื่อระบบสาธารณสุข-กู้วิกฤตโรคระบาด แต่ไม่อาจเยียวยาผลสะเทือนทางเศรษฐกิจ กลับกระจายเป็นเบี้ยหัวแตกและบางส่วนอยู่คาโกดังหนี้

ชั่วพริบตาที่เชื้อโรคโควิดแพร่ระบาด 3 ระลอก กินเวลา 18 เดือน ตำแหน่งอันทรงพลานุภาพของ พล.อ.ประยุทธ์พลันพลิกผันราวกับ “ปราสาททราย”

คนป่วยติดเชื้อวันละเฉียดหมื่นราย-คนตายเกือบร้อยต่อวัน จำนวนคนป่วยหนักทะลุ 2-3 พันคน ผู้คนล้มตายคาบ้านเพราะไม่ผ่านการคัดกรองเข้าสู่ระบบโรงพยาบาล

ยาและอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อ-วัคซีนมาไม่ทัน-ไม่เพียงพอ ยังไม่ร้ายเท่ากับวัคซีนที่มีไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถการันตีการป่วย-การตายเพิ่มทุบสถิติใหม่รายวัน

สัญญากับบริษัทวัคซีนที่มีประสิทธิภาพก็ไม่สามารถทำได้ทันเวลา ด้วยระบบรัฐราชการที่อ่อนล้า เฉื่อยชา ช้ากว่าการณ์ที่ควรเป็น โยนกันไป-โยกกันมา

มาตรการที่ออกมาบังคับใช้ภายใต้กฎหมายพิเศษที่ พล.อ.ประยุทธ์รวบอำนาจไว้ถึง 31 ฉบับ กับหน้าที่สั่งการล้นฟ้าใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกดีไซน์เป็นประกาศและคำสั่งที่กลับไป-กลับมา เหมือนจะเด็ดขาดแต่ไม่เข้มแข็ง

ข้อสั่งการแก้ปัญหาล้วนต้องรอ หันซ้าย-หันขวา สอบถาม-ทวนความจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เต็มไปด้วยขั้นตอน-สายการบังคับบัญชาที่รกรุงรัง ชื่อย่อสารพัด เฉพาะที่ทำเนียบรัฐบาลก็มีตั้งแต่ ครม.-ศบค.-ศบศ.-ศปก.ศบค. ฯลฯ ไม่นับรวมระดับกระทรวง ทบวง กรม อีกนับร้อยคณะ

กระนั้นก็ยังเกิดข้อผิด-พลาด สับสน บกพร่องครั้งแล้วครั้งเล่า ล็อกดาวน์-กึ่งล็อกดาวน์ พลิกโวหารเป็น เพิ่มมาตรการเข้มข้น

ทั้งนักธุรกิจทั่วหล้า-ประชาชน คนไข้ทุกหย่อมหญ้า บุคลากรการแพทย์ ไม่สามารถทนพิษบาดแผลที่รัฐบาลทิ้งไว้ ส่งเสียงสุดท้ายถึง พล.อ.ประยุทธ์พิจารณาทางลง-ทางออกที่มีเพียง 2 ทาง ยุบสภา หรือลาออก

ทางแรก ลาออก เปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และจัดตั้งรัฐบาลบริหารต่ออีกปีครึ่ง ซึ่งความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะถูกเลือกกลับมาอีก ก็เป็นได้ เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี

หรือสมาชิกสภาผู้แทนฯจะเลือกหัวหน้าพรรคทั้งในฝ่ายค้าน-รัฐบาล อนุทิน ชาญวีรกูล, สมพงษ์ อมรวิวัฒน์, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คนใดคนหนึ่งล้วนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ทางที่สอง ยุบสภาเป็นรัฐบาลรักษาการ ล้างไพ่ทั้งสำรับ นำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ วัดใจมวลชนอีกครั้ง

ไม่นับรวมเสียงและมือที่มองไม่เห็นเริ่มเคลื่อนไหวทำงานอีกครั้ง ผ่านกองกำลังแมลงรำคาญ “ไล่ประยุทธ์ ทุกวันเสาร์” ตั้งเป้าป่วน 3 เดือน สนธิพลังกันอย่างเงียบ ๆ กับอำมาตย์เก่าบางราย และเครือข่ายนักล็อบบี้ยิสต์ผู้คร่ำหวอดกับ “ม็อบจัดตั้ง”

กำลังพล 4 เหล่าทัพ และกำแพงมนุษย์ ภายใต้โครงสร้างอำนาจพิเศษที่แข็งแกร่งอันเป็นเอกลักษณ์ของการค้ำยัน พล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะพังทลายลง

เมื่อไร้ซึ่งกำแพงศรัทธา แม้เป็นผู้ชนะ ก็ไม่สามารถเป็นผู้นำได้อีกต่อไป พล.อ.ประยุทธ์อาจถึงเวลาต้องเปล่งวาจา “ผมพอแล้ว”