ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว ทำอย่างไรให้ ‘เจ็บแล้วจบ’

คอลัมชั้น 5 ประชาชาติ
อำนาจ ประชาชาติ

 

ในที่สุดประเทศไทยก็ต้องเข้าสู่โหมด “ล็อกดาวน์” อีกครั้ง

แม้จะแค่ 10 จังหวัดก็ตาม แต่ก็เป็น 10 จังหวัดที่ล้วนมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจทั้งสิ้น

แน่นอนว่า คงหลีกเลี่ยงผลกระทบในมุมนี้ไม่ได้เลย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยอมรับว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยที่ก่อนหน้านี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.8% ต่อปีนั้น คงจะต้องทบทวนกันอีกครั้ง

ขณะที่ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า ผลกระทบน่าจะลากยาวและมีผลต่อเศรษฐกิจถึงเดือน ก.ย. และเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้ในเดือน ต.ค. ช้ากว่าเดิมที่เคยมองว่าจะฟื้นตัวในเดือน ส.ค. ทำให้กรุงไทยต้องปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จากที่ประเมินไว้ในเดือน พ.ค.ที่มองว่าขยายตัว 0.8-1.6% มาอยู่ที่ 0.5-1.3%

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อสถานการณ์มันรุนแรงจนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว ก็คงไม่มีใครอยากเห็นยอดผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นทุกวัน หรือต้องเดินมาถึงจุดที่แพทย์และพยาบาลต้องเลือกว่าจะรักษาใคร หรือต้องปล่อยใครไป

เช่นนั้นมันน่าเศร้า น่าหดหู่เกินไป

ทว่า สถานการณ์ปัจจุบันก็ดูจะเป็นเช่นนั้นแล้ว จากภาพผู้คนรอคิว พยายามติดต่อหาเตียงให้ผู้ป่วยกันจ้าละหวั่น

ทุกคนจึงอยากให้ “เจ็บแต่จบ”

แต่ดูแล้วน่าจะจบยาก เพราะไวรัสกลายพันธุ์ระบาดหนักขึ้น รวดเร็วขึ้น ขณะที่ประสิทธิภาพวัคซีนที่เราแทงม้าตัวเดียวเอาไว้แต่แรก ดูจะเอาไม่อยู่ ซึ่งแม้จะมีการปรับแผนจัดหาวัคซีนทางเลือก แต่การจะได้มาก็ยังดูล่าช้า ไม่ทันการณ์

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่อาจจะมีการขยายมาตรการ “ล็อกดาวน์” ออกไปอีก

เพราะเพียงแค่ 14 วัน ไม่น่าจะคุมยอดผู้ติดเชื้อที่ตอนนี้พุ่งระดับใกล้หมื่นคนให้ลดลงได้มากนัก

ซึ่งสุดท้ายหากต้อง “ล็อกดาวน์” ต่อไปอีก แนวทางการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ต้องชัดเจน และ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” อย่างที่รัฐบาลชอบพูดอยู่ตลอดเวลา

โดยจากมาตรการเยียวยาผลกระทบที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา วงเงินรวม 4.2 หมื่นล้านบาท เป็นการช่วยเหลือเร่งด่วนแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา และสงขลา

ซึ่งมี 9 หมวดกลุ่มอาชีพที่จะได้รับการเยียวยา ได้แก่ ก่อสร้าง, ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร, ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ, กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ, ขายส่งขายปลีกและซ่อมยานยนต์, ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า, กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน, กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ กิจกรรมทางวิชาการ และข้อมูลข่าวสารและสื่อสาร โดยจะให้ความช่วยเหลือ คือ กลุ่มแรงงาน ทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบ

ถือว่าสร้างความพอใจได้ระดับหนึ่ง แต่คำถามก็วนกลับมาเหมือนเดิมว่า ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรง ยืดเยื้อออกไปอีก การช่วยเหลือเยียวยาจะเพียงพอหรือไม่ ซึ่งการจะบรรเทาปัญหาวนลูปเช่นนี้ได้ ก็อย่างที่มีการพูดถึงกันมาโดยตลอดนั่นก็คือ วัคซีน ที่ต้องจัดหาเพิ่มให้เร็ว และกระจายให้ทั่วถึง ทำได้หรือไม่

ตรงนี้แหละเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของรัฐบาลในการดูแลประชาชนในยามวิกฤต