ขอ “ยาแรง” สกัด “วิกฤตเศรษฐกิจ”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติธุรกิจ
อำนาจ ประชาชาติ

 

สถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทย ขณะนี้เรียกว่า “วิกฤต” ได้เต็มปาก เพราะยอดติดเชื้อต่อวันพุ่งทะลุ 2 หมื่นรายไปแล้ว ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตก็ระดับใกล้ ๆ 200 ราย

หลายโรงพยาบาลไม่มีเตียงพอจะรองรับคนไข้รายใหม่ ๆ แล้ว และที่หนักไปกว่านั้นก็คือ ห้องฉุกเฉินของหลายโรงพยาบาลเต็มแล้วเช่นกัน

เราเดินมาถึงจุดที่ต้องมีการเลือกว่าจะยื้อชีวิตใคร หรือไม่ยื้อชีวิตใคร

โดยรัฐบาลประกาศยกระดับมาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นขึ้น ครอบคลุม 29 จังหวัดเสี่ยง แน่นอนว่าพื้นที่ล็อกดาวน์ที่ขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนกิจกรรมที่ถูกจำกัดมากขึ้นย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจ

ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสถดถอยต่อเนื่องอีกปีจากการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน รวมถึงจำนวนผู้ป่วยสะสมในโรงพยาบาลยังเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ยิ่งหากการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนทั้งประเทศยังทำได้ช้า ประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงที่ยังต้องจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจตลอดไตรมาส 4 รวมถึงลดทอนความเป็นไปได้หรือประโยชน์ของแผนการเปิดประเทศ

“ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวได้ยาก และเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน” กกร.ระบุ

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้เหลือโต 0.7% จากเดิมคาดไว้ 1.8% ซึ่งมาจากปัจจัยการระบาดของโควิดที่มีผลต่อการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยการระบาดรอบนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจปีนี้และต่อเนื่องไปปีหน้า

“โจทย์สำคัญคือ ต้องคุมโรคระบาดให้ได้ และมีมาตรการการเงินและการคลังประคองไม่ให้ทรุด เพื่อผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้” นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าว

ทั้งนี้ ตอนนี้หลายฝ่ายอยากเห็นรัฐบาลปรับแผนการดูแลเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดหนักจนยากต่อการฟื้นตัว

โดย “ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เสนอว่า ตอนนี้ต้องใช้ยาแรง ต้องทำนโยบายให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยยังทำได้อีกมาก และสามารถดูตัวอย่างจากหลาย ๆ ประเทศที่ทำแล้วประสบผลดี ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมโรคระบาด ทั้งการประคองและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยต้องแบ่งออกเป็น 2 ทีม ทีมหนึ่ง ทำหน้าที่ปั๊มหัวใจให้ฟื้น อีกทีมเป็นทีมฟื้นฟู ทำกายภาพฟื้นฟู เน้นกล้ามเนื้อในโลกใหม่

“ดร.สมประวิณ” ย้ำว่า ต้องประคองธุรกิจไม่ให้ล้มหายตายจาก และประคองการจ้างงานไว้ให้ได้ เพราะหากไม่สามารถประคองได้เมื่อถึงเวลาฟื้นจะไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว ดังนั้น ต้องระวังไม่ให้ “วิกฤตโรคระบาด” กลายเป็น “วิกฤตเศรษฐกิจ” “ถ้าเราไม่ทำนโยบายให้มีประสิทธิภาพ สุดท้ายจะเป็น long crisis ความหมายก็คือ จะสร้างแผลเป็นให้ระบบเศรษฐกิจ” ดร.สมประวิณกล่าว

ขณะที่ กกร.เสนอมาตรการที่เกี่ยวกับภาษีด้วย อาทิ การขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปี, เสนอให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีธุรกิจ SMEs 3 ปี และอีกหลายมาตรการด้านการเงิน ตลอดจนมาตรการด้านการควบคุมการระบาด

ด้าน “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เสนอว่า รัฐบาลต้องอัดเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาทจากกฎหมายกู้เงินเพิ่มเติมลงไปในช่วงครึ่งปีหลังนี้ให้หมด พร้อมเตรียมการกู้เงินเพิ่มสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2565 ไว้ด้วย

ทั้งหมดนี้คือไม่มีใครอยากเห็น “วิกฤตโรคระบาด” กลายเป็น “วิกฤตเศรษฐกิจ” อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วก็ต้องขึ้นกับรัฐบาลว่าจะนำพาประเทศนี้ไปในทางใดด้วย