ตัวเลขไม่เคยหลอกใคร

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP
คอลัมน์ สามัญสำนึก
พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

เป็นไปตามคาด ผลจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิดใน 2 รอบหลัง โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก

แม้แนวทางรัฐบาลจะล็อกดาวน์มาลดการแพร่ระบาด โดยรูปแบบไม่ได้แตกต่างกันกับปีก่อน จำกัดการออกนอกบ้าน ปิดห้าง ปิดศูนย์การค้า ปิดร้านอาหาร สนามกีฬา สวนสาธารณะ กิจกรรมบันเทิง แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลดลง แถมเพิ่มจำนวนขึ้นมหาศาล

เจ็บ แต่ไม่จบ

เช่นเดียวกับผลกระทบในทางเศรษฐกิจ

ล่าสุด สภาพัฒน์ประกาศปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 0.7-1.2% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1% ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า ตัวเลขการติดเชื้อจะผ่านจุดสูงสุดในปลายเดือนสิงหาคม และลดจำนวนลงในเดือนกันยายน 2564

จากนั้นจะเริ่มผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 บนเงื่อนไขที่ว่าจะไม่มีการระบาดที่รุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก

ตามมาติด ๆ คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เสนอให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ผู้ว่าการแบงก์ชาติให้เหตุผลว่า โควิด-19 ทำให้คนตกงานกว่า 3 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคนเมื่อถึงสิ้นปีนี้ รายได้การจ้างงานในปีนี้หายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท และจะหายไปอีก 8 แสนล้านในปีหน้า รวมกัน 2.6 ล้านล้าน เกิดเป็นหลุมรายได้ขนาดใหญ่ เมื่อไม่มีเงินก็ไม่มีการใช้จ่าย ส่งผลสะเทือนถึงเศรษฐกิจไทย

แม้การกู้ด้วยปริมาณมหาศาลขนาดนี้จะทำให้หนี้สาธารณะในปี 2567 เพิ่มขึ้นไปถึง 70% ของจีดีพี แต่ถ้าไม่ทำตอนนี้ สถานการณ์จะหนักยิ่งกว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ

ข่าวร้ายยังกระจายไปถ้วนทั่ว โดยเฉพาะบรรดาเกษตรกรทั้งหลาย

วันเดียวกันกับที่สภาพัฒน์ และผู้ว่าการ ธปท. ออกมาชี้ทิศทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้เกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ยในปี 2564 ที่ 262,317 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นถึง 16.54%

ใช่แล้วครับ… เพิ่มขึ้น 16.54%

เทียบกับปี 2563 ที่มีหนี้สินอยู่ที่ 225,090 บาท/ครัวเรือน ซึ่ง สศก.ระบุว่า เพิ่มสูงขึ้นตามตัวเลขหนี้ครัวเรือนประเทศ และตัวแปรอื่น ๆ อาทิ นโยบายพักหนี้ และการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำของภาครัฐ

ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สศก. แยกแยะหนี้สินของเกษตรกร แบ่งเป็นกู้เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยการผลิต วัสดุอุปกรณ์การเกษตร คิดเป็นสัดส่วน 37.55%, ค่าแรงงาน ค่าซ่อม ซื้อ เช่าเครื่องจักรการเกษตร 17.05%, ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน 15.59%, หนี้สินเดิม 5.35% กู้เพื่อการศึกษา 3.73% รวมถึงกู้เพื่อใช้นอกการเกษตร เช่น ซื้อสินค้า และบริการต่าง ๆ อีก 20.72%

ยังดีที่ตัวเลขรายได้เฉลี่ยเกษตรกรต่อครัวเรือนในปี 2564 มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น จากปี 2563 ซึ่งมีรายได้รวมเฉลี่ย 390,376 บาท/ครัวเรือน เป็น 408,099 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.54%

แบ่งเป็น รายได้จากภาคเกษตร 190,065 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 3.07% จากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 184,409 บาท/ครัวเรือน และรายได้นอกภาคการเกษตร รวมถึงเงินช่วยเหลือจากรัฐในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้มีรายได้ในส่วนนี้ 218,034 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 5.86% จากปีก่อนที่มีรายได้นอกภาคเกษตร 205,967 บาท/ครัวเรือน

ข่าวร้ายก็คือ ในขณะที่หนี้เพิ่มขึ้น แต่เงินสดในมือกลับมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปัญหาราคาผลผลิต แม้ว่าที่ผ่านมา เราจะสัมผัสได้ถึงราคาพืชผล สินค้าเกษตรบางชนิดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ชัด ๆ คือ ทุเรียน อาจรวมไปถึงยางพารา ที่ปีนี้ราคาขยับขึ้นมา

หนึ่งในสินค้าเกษตรที่ราคาลดต่ำลงก็คือ ข้าว ที่มีแนวโน้มเฉลี่ยลดลงจากปีที่ผ่านมา ประมาณ 3%

น่าเศร้าชะมัด